สถิติผู้เข้าชม
 ขณะนี้มีผู้เข้าใช้ 41
 ผู้เข้าชมในวันนี้ 42
 ผู้เข้าชมทั้งหมด 843,512
 เปิดเว็บ 26/06/2556
26 เมษายน 2567
อา จ. อ. พ. พฤ ศ. ส.
 
10  11  12  13 
14  15  16  17  18  19  20 
21  22  23  24  25  26  27 
28  29  30         
             
  บทสัมภาษณ์
ธุดงค์เขาช้างเผือก
[4 พฤศจิกายน 2556 17:45 น.]จำนวนผู้เข้าชม 4407 คน
 

ธุดงค์เขาช้างเผือก
 
ธุดงค์ดอยอินทนนท์ ธุดงค์ภูทับเบิก2
 
ธุดงค์เขาช้างเผือก
 
           เมื่อวันที่ 5 – 7 มี.ค. 52 อาจารย์กะลาพาพวกเราไปธุดงค์ที่ดอยช้างเผือก กาญจนบุรี โดยไม่มีโปรแกรมล่วงหน้ามาก่อน เป็นทริปที่จัดขึ้นเพื่อวอร์มร่างกายก่อนไปเนปาล ของพวกที่จะไปเอเวอร์เล้าเบสแคมป์คราวนี้ งวดนี้มีน้องใหม่ไป 7 คน เช่น แขก พี่ป้อม บุ้ง คุณสำรวย เส และมีคู่แฝดพ้องชื่อไปอีก 3 คู่ ได้แก่ ยุ้ย 2 ยุ้ย คือ ยุ้ยนางแบบ และยุ้ยตากล้อง เล็ก 2 เล็ก คือ เล็กน้องหมอลัดดา และเล็กเพื่อนกุ้ง มี พา 2 พา คือ ภา เพื่อนยุ้ย และพา เพื่อนรุ่นน้องของแอ๋ว และเป็นน้องใหม่ทริปนี้ด้วย ชื่อเต็มๆว่ายุพา บางทีเราก็เรียกว่า ยุ จะได้ไม่ซ้ำกันกับภา และนอกจากนี้ก็มีฟ้า ญาติธรรมจากวัดพุทธปัญญาที่ใหม่เอี่ยมถอดด้ามไม่เคยไปที่ไหนมาก่อนเลย แถมยังทำงานที่เดียวกับพี่ป้อมอีกด้วย ทั้งๆที่กลุ่มของแขกซึ่งไปเรียนครูสมาธิและปฏิบัติธรรมกับอาจารย์วิริยังค์ ที่วัดธรรมมงคล มาจอยน์กับเราโดยอาจารย์กะลาแนะนำ ส่วนฟ้ามากับคุณปู่ เป็นคนละทางกันเลยแต่ได้มาธุดงค์ทริปเดียวกันนี้ได้ เรียกว่า ธรรมะจัดสรร ก็ได้ 

          เราออกเดินทางจาก TOT ของกุ้ง 3 ทุ่มกว่าๆ เพื่อจะได้ไปถึงเมืองกาญจน์เช้าพอดี จะได้ไม่ต้องหาที่พักอีก เราวิ่งรถมาถึงเมืองกาญจน์ราวๆ ตีหนึ่ง เราแวะเข้าห้องน้ำแล้ววิ่งรถออกมาทางไทรโยคใหญ่ เราแวะเติมน้ำมันที่ปั๊มเชลล์ แล้ววิ่งเข้าทองผาภูมิ ผ่านเขื่อนวชิราลงกรณ์ มาถึงบ้านอีต่อง ราวๆตี 5 กว่าๆ บ้านอีต่องเป็นภาษาพม่า ชื่อเต็มๆว่า นะอีต่อง แปลว่าสถานที่อยู่ของเทวดา หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เดิมทีเดียวที่นี่เป็นที่ตั้งของเหมืองแร่ปิล็อก เลยบางที่ก็เรียกที่นี่ว่า บ้านปิล็อก แทนบ้านอีต่อง , เหมืองปิล็อก เป็นเหมืองแร่ดีบุก และวูลแฟรม ที่คุณอาจินต์ ปัญจพรรค์ นักเขียนเรื่องสั้น และเป็นเจ้าของ นิตยสารฟ้าเมืองไทย เป็นน้องชายของ ชอุ่ม ปัญจพรรค์ นักเขียนนวนิยายรักโรแมนติก สมัย 40 ปีที่แล้ว เคยเรียนคณะวิศวฯ จุฬาฯ เคยมาฝึกงานและทำงานที่นี่ ได้เขียนเรื่องสั้น ชุดเหมืองแร่ออกมา เป็นชีวิตคนงานเหมือง สนุกมาก และที่เหมืองปิล็อกนี้  เคยมีวิศวกรฝรั่งมาทำงานที่นี่ และเสียชีวิตลง แต่แหม่มภรรยารักเหมืองนี้มากไม่ยอมกลับเมืองนอก เลยมาลงหลักปักฐานสร้างรีสอร์ทปิล็อกไว้ที่นี่ แต่บางทีเราเรียกว่า รีสอร์ทแหม่ม และมีนักท่องเที่ยวมาพักเป็นประจำ เพราะติดใจในรสอาหารฝรั่งขนานแท้ดั้งเดิม ที่แหม่มทำเองไว้บริการ รีสอร์ทนี้ อยู่ห่างจากบ้านอีต่องประมาณ 3 กม.

          เหมืองแร่ปิล็อกนี้ เป็นเหมืองฉีด ใช้น้ำฉีดทำให้ต้นไม้ล้มระเนระนาด แล้วปล่อยให้ดินไหลมารวมกันในห้วย แล้วให้คนงานร่อนเอาแร่ออกมา ปัจจุบันหมดสัมปทานแล้ว ประกอบกับแร่หมดแล้ว เลยเหลือแต่เขาหัวโล้นไม่มีต้นไม้ มีแต่หญ้าขึ้นเต็มไปหมด 
 
          ใกล้ๆกับบ้านอีต่อง มีที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกแห่ง คือน้ำตกจั๊กกระดิ่ง มีทางรถเข้าไปได้ พวกออฟโร๊ดชอบบุกเข้าไปจนถึงชายแดนพม่าน้ำตกนี้ห่างจากบ้านอีต่องราวๆ 3 กม. เช่นกัน
 
           ที่บ้านอีต่อง มีที่ตั้งของตำรวจ ตชด. และกองร้อยทหารพิเศษ สำหรับมาดูแลชายแดน ตรงแนวสันเขาตะนาวศรี ที่เป็นเส้นแบ่งเขตแดน ไทย – พม่า เพราะมีการปะทะกันของกะเหรี่ยงกับทหารพม่า แล้วล้ำเข้ามาในแดนไทยเป็นประจำต้องคอยผลักดันออกไป ใกล้ๆกับกองทหารเป็นที่ตั้งของวัดบ้านอีต่องเป็นวัดพม่าแต่มีพระไทยจากไทรโยคมาเป็นเจ้าอาวาส มีพระทั้งไทย พม่า ประจำอยู่ราวๆ 7 รูป เราไปถึงได้ยินเสียงบรรยายธรรมเป็น CD จากธรรมสภาเปิดดังก้องหุบเขา ได้ยินไปทั่วทั้งหมู่บ้าน เราขึ้นไปนมัสการเจดีย์บรรจุพระธาตุที่อยู่บนยอดเขาในวัดแล้วนั่งสมาธิกันราวๆ 10 นาที แล้วเดินเวียนประทักษิณรอบๆเจดีย์รวม 3 รอบ ก่อนลงมาข้างล่างพอดีพระท่านได้เริ่มสวดมนต์ทำวัตรเช้าเสียงสวดไพเราะมาก ต่างจากที่เคยได้ยิน เป็นทำนองสวดของพม่า ฟังแล้วประทับเข้าไปในใจ  
 
           เราลงไปที่โรงเรียนบ้านอีต่อง ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับกองทหาร เราอาศัยห้องน้ำล้างหน้าล้างตาและทำกิจตอนเช้ากันเสร็จ แล้วเดินไปที่ร้านอาหารเจ๊ต้อย ซึ่งกุ้งติดต่อให้ทำอาหารและหาลูกหาบให้ เช้านั้นเราทานข้าวต้มหมูกับเห็ดหอม อร่อยมาก อร่อยเกินคาด
 
           เราทานข้าวเสร็จก็มารวมกันที่สนามหน้าโรงเรียนบ้านอีต่อง เพื่อรอลูกหาบที่เจ๊ต้อยจัดหามาให้ เรารอสักครู่ลูกหาบก็มาพร้อมกัน หัวหน้าทีมชื่อดอน เป็นพม่าเชื้อสายทวาย เกิดในเมืองไทย เรียนจบ ป.6 กำลังเรียน กศน.ต่อ พูดไทยได้ชัดเจนมาก แต่ยังไม่ได้บัตรประจำตัวประชาชนคนไทย กำลังยื่นขออยู่ มีลูกทีมชื่อไท หน้าตาคล้ายผู้หญิง ผมยาวสลวย มีลักยิ้มด้วย พอเราทักก็เขินมาก มีท็อปและน้องๆอีก 4 คน เป็น 7 คน ช่วยขนเต็นท์, ถุงนอน, อาหารและน้ำดื่ม โดยเฉพาะน้ำดื่มเราขนไปมากหน่อยเพราะบนเขาไม่มีแหล่งน้ำเหมือนกับทริปอื่นๆที่ผ่านมา เราออกเดินกันราวๆ 8 โมงกว่าๆมุ่งหน้าเข้าป่าสู่ยอดดอยช้างเผือก เราผ่านสถานีลำเรียงก๊าซจากพม่าของ ปตท. ซึ่งเคยมีปัญหาการวางท่อก๊าซที่ NGO เคยมาคัดค้าน
 
           เราเดินไปตามแนวกันไฟ ทำไว้กว้างใหญ่รถปิ๊กอัพวิ่งได้สบาย ผ่านเข้าไปในป่าผลัดใบแต่มีใบไม้ทับถมกันไม่มากนัก ไม่เหมือนที่ดอยผาแง่มใหญ่ เชียงใหม่ เราค่อยๆไต่เนินขึ้นไปเรื่อยๆกว่า 3 ชั่วโมง เล่นเอาเหนื่อย จนถึงต้นไม้ใหญ่เราก็เลยนั่งพักกินข้าวกัน แขกถือโอกาสเป่าขลุ่ย เพลงนกขมิ้นให้ฟัง เป่าได้ไพเราะไม่แพ้อาจารย์ ธนิศ ศรีกลิ่นดี พอแขกบรรเลงเพลงจบลง อาจารย์กะลาก็ถือโอกาสบรรยายธรรมว่า
 
           เรามาเดินธุดงค์กันทำไม รู้ไหม? ก็เพื่อมาฝึก ตบะ คือ ความอดทน ฝึก ทมะ คือ ความอดกลั้น และฝึก ขันติ คือ ความสงบระงับ เพราะที่มานี่ มันทั้งร้อน ทั้งเหนื่อย ลำบากตรากตรำมาก มิหนำซ้ำโดนผึ้งต่อยเอาอีก แถมข้างหน้ายังมีภูผาทมึนสูงชัน รออยู่อีก 5 ลูก แล้วจะข้ามกันไปไหวไหมนี่? ทางเดินที่เห็นก็เป็นแค่สันเขาเล็กๆ ซ้ายก็เหว ขวาก็เหว มีสิทธิ์ตกไปได้เพียงครั้งเดียว ซึ่งมันก็เกินพอ ถ้าใครท้อจะถอยก็ได้นะยังมีเวลา  แต่น่าจะอายคุณปู่ที่อายุ 74 แล้วยังไปได้แจ๋ว เราจะยอมแพ้หรือ? แต่อย่างไรก็ตาม อาจารย์จะกลับมาเดินที่นี่อีกตอนอายุ 75 ทำลายสถิติคุณปู่ให้ได้ ไม่รู้จะทำได้หรือเปล่า? 
 
           นับแต่นี้ต่อไปเราคงเดินสู้กับแรงโน้มถ่วงของโลกที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ ต้องเตรียมกาย เตรียมใจไว้สู้กับความร้อน สู้กับแดด สู้กับลม แมลงสัตว์กัดต่อย เรียวหนาม, คมไม้, ใบหญ้า, ที่จะบาดเอา ทุกข์เหล่านี้ ที่จริงเป็นแค่ทุกข์เล็กๆ เท่านั้นเอง มันเกิดขึ้น, ตั้งอยู่, แล้วก็หายไป ให้เดินไปแล้วสังเกตสภาวธรรมที่ปรากฏทางใจ โดยไม่เข้าไปก้าวก่าย แทรกแซง ไม่ไปยึดติดกับมัน ให้เป็นทุกข์ และไม่ไปยึดติดกับความท้อใจที่ปรากฏขึ้น ทุกก้าวที่ย่างไปให้รู้อยู่กับปัจจุบัน ไม่ต้องไปคำนึงถึงว่า รู้อย่างนี้นอนอยู่กับบ้านดีกว่า, หรือไม่ไปคำนึงถึงข้างหน้าว่า เมื่อไหร่มันจะถึงสักทีโว้ย ? เพราะทุกก้าวที่ย่างไปมันจะใกล้จุดหมายเข้าไปทุกทีๆ ไม่ต้องไปพะวงถึงเวลา ไม่ต้องไปพะวงถึงระยะทาง แล้วเราก็จะถึงที่พักในที่สุด ถ้าเราสู้กับมันได้ มันก็จะเป็นภูมิคุ้มกันเราไปตลอดชีวิตทีเดียว ทุกๆครั้งที่ก้าว ไม่ใช่ดูแต่เท้า แต่ต้องพิจารณาก้อนหินทุกๆก้อนด้วย เพื่อเหยียบไปแล้วจะได้ไม่พลาดพลั้ง เหมือนกับธรรมะของอาจารย์ที่ต้องตื่นรู้ในสิ่งแวดล้อมด้วย ทำให้อยู่ได้ทั้งในป่าและในเมือง!
 
           พอพักกันจนหายเหนื่อยเราก็เดินต่อ ผ่านป่าไผ่ที่โดนไฟไหม้จนแห้งเกรียม ไม่มีร่มเงาให้หลบร้อนได้เลย นานๆมีต้นไม้ใหญ่ที่ไม่โดนไฟไหม้ ให้เราได้อาศัยหลบแดดชั่วครู่ แล้วก็เดินกันต่อไป ข้ามเขาหัวโล้นที่เลี่ยนเตียนเรียบ ไม่มีแม้แต่ต้นหญ้าขึ้นอยู่เหลือแต่ตอดำๆ ทำให้หินร้อนระอุเป็น 2 เท่า จนแสบต้นคอ และแสบเนื้อตัวไปหมด สองข้างทางก็เป็นเหวลึกลงไปไม่ต่ำกว่า 300 เมตร มองแล้วเสียว ทำได้อย่างเดียว จ้องไปที่ทางเดินที่เราจะก้าวไปแต่ละก้าว เอาสติไปจดจ่อที่เท้าไม่วอกแวกไปทางอื่น สังเกตดู สติมันตื่นกลัว รู้สึกตัวได้เลย มันหวาดเสียวกว่าทุกๆเขาที่ผ่านมาหลายทริป ไม่ว่า ภูหลวง, ภูทับเบิก, ดอยผาแง่มใหญ่ หรือดอยหัวเสือ แต่ดีกว่าที่ความสูงไม่ถึง 2,000 เมตร มิฉะนั้นโรค AMS คงเล่นงานหลับกลางอากาศอีก เราเดินข้ามเขาหัวโล้นแบบนี้ไม่ต่ำกว่า 4 ลูก ทั้งสูง ทั้งชัน ทั้งโหด กว่าทุกๆครั้ง ต้องขอชมเชยพวกน้องใหม่ ไม่ว่าพี่ป้อม, ยุพา, ฟ้า ที่เดินกันฉลุย ทั้งที่เป็นทริปแรกของทุกคน แล้วต้องมาผจญกับความโหด ความชัน ความเสียวแบบนี้ ที่เคยเล่าว่าตอนปีนขึ้นไปบนดอยหัวเสือ เชียงใหม่ ระยะทางดูมันไกลและยาวแล้ว ที่นี่ยาวเป็น 4 เท่า ไม่ใช่ 2 เท่า โดยเฉพาะเขาลูกสุดท้าย ความสูงไม่แพ้ตัวยอดดอยเขาช้างเผือกเลย ตอนที่ปีนขึ้นบนยอดไม่เท่าไร แต่ตอนปีนลงจากยอดมันชันมากๆ แถมหินที่จะวางเท้าก็ห่างกันร่วมครึ่งเมตร ต้องอาศัยนั่งแล้วถัดลงมา จนก้นกางเกงดำไปหมด ดอนลูกหาบทนดูไม่ไหว ต้องมาจูงคุณปู่ลงไปจนถึงลานหญ้า ที่เราจะมาพักกางเต็นท์กัน ตรงนั้นไม่มีร่มไม้ใบบังต้องอาศัยไม้ใหญ่ 2 ต้นที่ขึ้นอยู่บนนั้นทอดเงาลงมาพอหลบแดดได้บ้าง แต่ก็ไม่มิดต้องทนนั่งตากแดด ร้อนก็ร้อน หิวก็หิว ไม่รู้จะทำอย่างไร ลูกหาบกลัวจะค่ำเสียก่อน เลยช่วยกันกางเต็นท์ เพื่อใช้เป็นร่มเงาให้อาศัยหลบแดดด้วย เพ็ชรไปกางเสียไกลสุดโต่ง เพื่อปลีกวิเวก แต่ปรากฏว่าแอ๋ว และพี่แป๊วไปขอนอนด้วย เลยหมดความเป็นส่วนตัวเลย พอกางเต็นท์เสร็จ จะล้างหน้าล้างตา ปรากฏว่าน้ำที่แบกขึ้นมาหมด เลยต้องให้ลูกหาบลงไปเอาที่ลำห้วยตีนเขา ห่างไป 3 – 4 กิโล ต้องใช้เวลาเดินทางไม่ต่ำกว่า 2 – 3 ชั่วโมง เราเลยต้องเอาผ้าเย็นเช็ดหน้าเช็ดตา พอให้สบายเนื้อ สบายตัว เพราะแขน ขา หน้าตา เต็มไปด้วยเถ้าถ่านจากตอไม้ที่ไหม้ไฟ เป็นสีดำ เปรอะไปทั้งตัวและ หัว หู แขนขา จากตอนที่ถัดลงมาจากยอดเขา, เสร็จแล้วเรามานั่งล้อมวงฟังธรรมจากอาจารย์กะลา เพื่อคลายร้อน จะได้ชุ่มฉ่ำจากรสพระธรรมแทนได้บ้าง อาจารย์สั่งให้ลองสังเกตดูธรรมชาติรอบๆกาย ไม่ว่าจะเป็น ยอดเขาที่เรียงรายออกไปไกลโพ้น, ต้นไม้ ใบหญ้ารอบๆตัว, อากาศที่ร้อนอบอ้าว, ลมเย็นที่พัดมาเป็นครั้งคราว และอาการของใจที่ปรากฏ กระเพื่อมไหวด้วยความพอใจ ไม่พอใจ ความหวาดหวั่นพรั่นพรึง ที่จะต้องมานอนกลางหุบเขา กลางป่า กลางไพร โดยเฉพาะกับน้องใหม่ แล้วให้สังเกตดูมดที่คลานอยู่บนพื้นดิน แล้วอาจารย์ก็กล่าวว่า ลองดูมด จะเห็นว่ามันอยู่กับธรรมชาติได้ ไม่ว่าร้อน ไม่ว่าหนาว ท่ามกลางป่าดงพงไพร โดยไม่เคยกราบไหว้ ขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง เราเป็นมนุษย์จะอายมันไหมเนี่ย? คนเราตัวใหญ่กว่าแต่เดือดร้อนกับความร้อน ความหนาว ความกลัว เพราะมัวไปปรุงแต่งจากสัญญาที่จำมาตั้งแต่เด็กๆ ที่ผู้ใหญ่หลอกเอาไว้ เหมือนอย่างตอนไปนอนที่ป่าช้าคราวที่แล้ว ทุกคนขนหัวลุกซ่าๆ ยกเว้นภา เพราะหลับปุ๋ย, ไม่ว่ายุ้ย, ไม่ว่าแอ๋ว, แต่เช้ามาไม่เห็นมีใครตายเพราะโดนผีบีบคอเลยสักคน และในขณะเดียวกันคนเราก็มีปัญญา โดยการเรียนรู้ได้ ฉะนั้นเมื่อเรามีปัญญามากกว่ามด ก็ต้องอยู่กับธรรมชาติได้ดีกว่ามด และควรจะเข้าใจและเรียนรู้ได้มากกว่า โดยไม่ต้องไปพึ่งพาจตุคามรามเทพ,ไม่ต้องไปพึ่งคาถาอาคม, ไม่พึ่งตะกรุด, ผ้ายันต์, ให้อายมดมันเปล่าๆ ฉะนั้นให้เราเรียนรู้ปรากฏการณ์ และสภาวธรรม ที่เกิดขึ้นกับกายและใจ, มันเกิดขึ้นแล้วมันก็ผ่านไป อย่างเช่นดวงอาทิตย์กำลังส่องแสงลงมา ก็ทำให้ดวงดาวที่เคยเต็มท้องฟ้าที่เห็นเมื่อตอนเช้ามืดนี้หายไป ที่จริงแล้วมันไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่แสงของดวงอาทิตย์มันจ้ากว่าดาว มันก็ข่มดาวให้เลือนหายไป เหมือนกับคนที่มีอำนาจเหนือกว่าเรา ก็ข่มเราให้หงอลงไป พอค่ำลงดาวก็เต็มท้องฟ้าอย่างเดิม สิ่งเหล่านี้ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป วันแล้ว, วันเล่า, เหมือนกับกิเลศที่มันไหลเข้ามาที่ใจ  ขอให้เราแค่เข้าไปรับทราบแต่ไม่เข้าไปก้าวก่าย แทรกแซง จัดแจงอะไร เดี๋ยวมันก็ผ่านไป ตามกฎของไตรลักษณ์ คือเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ถ้าเราไปตอบสนองอย่างสุดโต่ง หรือกล่าวโทษ ก็จะแพ้พ่ายกับมันได้ในที่สุด ฉะนั้น ปรากฏการณ์ของธรรมชาติและปรากฏการณ์ของใจก็เฉกเช่นเดียว กัน มันจะไหลมา แล้วก็ไหลไป ถ้าเรามีปัญญารู้ทันมันก็ทำให้เรา สุข หรือ ทุกข์ไม่ได้เลย เราก็จะไม่ทุรน, ทุราย, เหมือนปลาถูกทุบหัว ฉะนั้นต้องเรียนรู้ และวางใจให้ได้ !!

          ในเรื่องปัญญา มีเรื่องอยากจะเล่าให้ฟังคือ มีลูกสาวคนหนึ่งได้ทุนไปเรียนเมืองนอกอยู่ 4 ปี เพื่อทำปริญญาเอก ปล่อยให้แม่ ที่เป็นแม่ม่ายอยู่บ้านคนเดียว ครั้นพอลูกสาวเรียนจบกลับมาเมืองไทย พบว่าแม่ไปได้คนขับรถมาเป็นสามี ลูกสาวแสนจะแค้นใจ บังคับให้แม่เลิกคบกับคนขับรถ แม่ก็เสียใจ เพราะถูกขืนใจ สองถ้าเลิกแล้วคนขับรถเอาไปโพนทะนาก็จะเสียชื่อเสียงมาถึงตัว และถึงลูก สามยังอาลัยอาวรณ์ในกามราคะ และความผูกพันทางใจ ส่วนลูกนั้นขัดเคืองใจ เพราะ
  1. คนรถมีฐานะต่ำต้อยกว่าเรา แถมเคยเป็นเสมือนคนใช้ในบ้านเรา
  2. ถ้าใครรู้เข้าว่าแม่ของเราไปได้คนรถมาเป็นสามี ก็จะทำให้อับอายขายหน้ามาถึงเรา
  3. ถ้าได้คนที่มีฐานะเท่าเทียมกับเรา ยิ่งเป็นคนมีหน้า มีตาในสังคม ก็จะถูกใจเรา
  4. ตอนอยู่เมืองนอกยังไม่รู้ว่าแม่ได้คนรถมาเป็นสามี ก็ไม่เป็นทุกข์ พอรู้แล้วก็ทุกข์ เพราะอะไร?
  5. แม่ไม่ยอมเลิกกับคนรถ ทำไมถึงรู้สึกขัดเคืองใจ เพราะอะไร
           ต่อไปขอให้ช่วยวิเคราะห์ และหาทางออกให้ลูกสาวคนนี้ด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องที่อยากให้พวกเราได้คิด เพื่อลับปัญญา !

          พอดีแดดร่ม ลมตก อาทิตย์อ่อนแสงลง อาจารย์เลยชวนให้ปีนขึ้นไปบนยอดเขาดอยช้างเผือก ที่สูงตระหง่านอยู่เบื้องหน้า มีทางเดินเล็กๆบนหน้าผา ไม่มีต้นไม้ หรือพงหญ้าให้เกาะ ทุกคนค่อยๆไต่ขึ้นไป จนถึงลานวงกลม บนไหล่เขา แล้วเราก็นั่งล้อมวงฟังอาจารย์บรรยายธรรม อาจารย์กล่าวว่า

           หยดน้ำ ถ้าหยดลงมาในท่ามกลางความหนาว ต่ำกว่า 0° อาจจะกลายเป็นน้ำแข็ง หรือแม่คะนิ้งได้ ถ้าหยดมาจากเมฆก็กลายเป็นฝนได้ ถ้าหยดมากับหมอก ก็กลายเป็นน้ำค้าง ถ้าหยดมาท่ามกลางเกลียวคลื่น ก็กลายเป็นธาตุน้ำ

           ธาตุน้ำ ไม่ว่าในอากาศ ในลำธาร ในมหาสมุทร ดูแล้วประดุจมันมีความต่าง แต่แท้ จริง มันมีความเหมือน
ทุกข์ ทุกข์ก้อน ดูแล้วคล้ายกับมีความต่างเช่นกัน แต่แท้จริงแล้ว ทุกข์ทุกก้อน ต่างมีความเหมือน ฉะนั้น ทุกข์ก้อนใดก้อนหนึ่ง อาจเป็นตัวแทนของกฎไตรลักษณ์ได้ และนำไป สู่นิโรธะได้

           น้ำทุกหยด นำไปสู่การเป็นแผ่นกระดาษได้ตามหลักปฏิสัมพันธ์ของ นัสติสฮัน หลวงพ่อท่านเจ้าอาวาส แห่งสถานปฏิบัติธรรมหมู่บ้านพลัม ในฝรั่งเศส เพราะน้ำเมื่อหยดสู่ดิน ก็กลายเป็นต้นน้ำของลำธาร, ของแควน้อย แควใหญ่ เป็นต้นน้ำของแม่น้ำแม่กลอง และเจ้าพระยาแล้ว ไหลลงสู่อ่าวไทยต่อไปจนถึงมหาสมุทรอินเดีย แล้วระเหยกลายเป็นเมฆฝนตกลงมา ทำความชุ่มฉ่ำให้กับแผ่นดิน ต้นไม้น้อยใหญ่ก็งอกงาม นำไปทำเป็นกระดาษได้ ล้วนแล้วเป็นการจัดสรรของธรรมชาติ เพียงแต่เรามีปัญญา มองเห็นธาตุรู้ ก็จะนำไปสู่กฎของไตรลักษณ์ นำไปสู่สุญญตา และนำไปสู่นิโรธะ ในที่สุด ดังนั้นจึงมีคำกล่าวว่า สรรพเพธรรมา อนัตตาติ ธรรมทั้งหลายทั้งปวง เป็นอนัตตา

           พอบรรยายธรรมจบลง แขกก็เป่าขลุ่ยเพลงเขมรไทรโยค ก้องไปทั้งหุบเขา ทำเอาเพื่อนๆซึ้งไปตามกัน เรานั่งเล่น ตากลมเย็นๆที่โชยมา จนอาทิตย์ลับหายไปจากขอบฟ้า เราถึงได้ไต่เขากันลงมา ส่วนอาจารย์กะลาเอาธงชาติไปปักไว้ที่ยอดเขาถัดไป โดยไต่ไปตามสันเขากว้างเท่าผ่ามือ อาจารย์บอกว่าขนาดอาจารย์ก็เสียวเหมือนกัน แต่อาศัยประสบการณ์ที่มีมามาก เลยเดินได้สบาย

           เราลงมาถึงลานหน้าเต็นท์ กุ้ง เล็ก ช่วยกันจุดเตาแก๊สต้มน้ำ ชงชากาแฟ ถวายอาจารย์และแจกพวกเรา เอาขนมปังที่ขนมามากมาย ทาแยมและเสริมด้วยทูน่า แจกลูกหาบและสมาชิกทุกคน เอาบ๊ะจ่างที่เหลือจากตอนกลางวัน มาย่างไฟเพราะเริ่มเป็นยางเหนียวๆแล้ว แล้วนำมาแจกให้สมาชิก และลูกหาบกินกัน เสร็จแล้ว บุ้ง พี่ป้อม ยุ้ย กุ้ง เอาผ้าพลาสติกมาปูหน้าเต็นท์ แล้วนิมนต์อาจารย์มาแสดงธรรม  อาจารย์กล่าวว่า

           ธาตุรู้ เป็นของคู่กับ สภาวธรรม แต่ไม่ใช่เป็นธรรมคู่ แบบเช่น รู้ – หลง, ร้อน – หนาว, สุข – ทุกข์, ดีใจ – เสียใจ, หรือ หายใจเข้า – หายใจออก ธาตุรู้เป็นสิ่งที่เกิดตามมาหลังจากที่เห็นสภาวธรรมแล้ว เหมือนกับการเห็นดาว เบื้องหลังดาว ก็คือท้องฟ้า เป็นของที่อยู่ติดกัน หรือความเงียบที่เกิดขึ้นหลังเสียงตบมือและหลังเสียง และความเงียบ ก็คือ ความว่าง หรือสูญญตา ถ้าเรารู้ตัวนี้แล้วเราจะไม่ยึดติดอยู่กับสภาวธรรมและธาตุรู้ต้องปล่อยวางให้หมด จึงจะถึงซึ่งจิตหนึ่ง หรือจิตเดิมแท้ ซึ่งอาจารย์เรียกว่า จิตธรรมดา

           ในเรื่องนี้หลวงปู่ดุลย์ เคยกล่าวกับพระอาจารย์ปราโมทย์ไว้ว่า เมื่อมีสิ่งที่ถูกรู้ ก็ต้องมีจิตผู้รู้ เมื่อพบจิตผู้รู้ก็ให้ทำลายผู้รู้ทิ้งเสีย เมื่อนั้นจะถึงซึ่งความบริสุทธิ์อย่างแท้จริง ซึ่งก็คล้ายๆกับที่หลวงพ่อมนตรี แห่งป่าละอู เล่าให้ฟังว่า ครั้งที่ท่านไปธุดงค์ที่ชายแดนพม่า แล้วเกิดเป็นไข้มาลาเรียอย่างแรง ท่านรู้สึกว่าคงต้องตายแน่ๆ จึงทำจิตปล่อยวางทุกอย่างแม้ความตายที่จะมาพรากชีวิตไป แต่ในขณะที่เฝ้าดูจิตอยู่นั้น มันก็เห็นว่าจิตท่านยังมีอะไรค้างคาอยู่, ดูไป ดูมา ก็เลยรู้ว่าจิตท่านยังข้องในความปล่อยวางนั่นเอง ยังผูกพันกับความว่าง คือ มันไม่ว่างจริง มันไม่เป็นสูญญตา จึงทำให้ค้างคาอยู่ จิตจึงยังไม่ถึงซึ่งความบริสุทธิ์

           พออาจารย์บรรยายจบลง พี่แขกก็เป่าขลุ่ยเพลง ธรณีกรรแสง โหยหวนเสียจนอย่าบอกใคร เสร็จแล้วอาจารย์ก็บรรยายธรรมต่อไปว่า

           ความเหนื่อย ความเมื่อย ความล้าที่ผ่านมาเมื่อกลางวัน ปัจจุบันมันเป็นอดีตไปหมดแล้ว และปัจจุบันขณะนี้ก็จะกลายเป็นอดีตของวันพรุ่งนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นมายาธรรม มันผ่านมา แล้วมันก็ผ่านไป ไม่ต้องไป IN – อม – จม – ลอย กับมัน ไม่ว่าจะเป็น ลาภ – ยศ – สรรเสริญ – สุข แม้แต่ทุกข์ หรือความเศร้าใจ เสียใจ มันเกิดขึ้นจากเหตุและปัจจัย หมดเหตุ หมดปัจจัย มันก็ดับไป ถ้าเราเข้าใจในหลักธรรมนี้แล้ว อยู่ที่ไหนๆก็เป็นสุข หรืออย่างน้อยก็ไม่เป็นทุกข์ ถ้ายังไม่ถึงขั้นนิโรธะ!

           พอดี 4 ทุ่มกว่า เราเลยขอตัวแยกย้ายไปนอน

           ตอนตี 4 กว่าๆ อาจารย์มาเคาะเต็นท์ปลุกพวกเราทุกเต็นท์ แล้วให้ไปล้างหน้า ล้างตาเข้าป่าถ่ายทุกข์ เสร็จแล้วมารวมกันที่ลานธรรม อาจารย์บอกว่าจะพาไปเดินจงกรมสัก 100 เมตร เสร็จแล้วก็พาเราเดินไปบนยอดดอยช้างเผือก คราวนี้เราไม่ค่อยกลัว เพราะมันมืดมองไม่เห็นหุบเหว เลยไม่ปรุงแต่ง เลยไม่กลัว ประกอบกับเดินกันเป็นแถวๆตามๆกันไป ทุกคนเลยขึ้นไปบนลานวงกลมที่ขึ้นมาเมื่อวาน แล้วก็แยกย้ายหามุมนั่งสมาธิกัน อาจารย์บอกว่า เวลานั่งอย่าหลับตา เพราะมันจะลงภวังค์ ให้ตื่นรู้ ดูรอบๆข้าง แล้ววางใจให้เป็นกลาง ไม่ต้องไปคิดถึงอดีต ไม่ต้องไปคำนึงถึงอนาคต ถ้ามันหลง มันเผลอไปในความคิด ก็ดึงมันกลับมาอยู่ที่กาย อยู่ที่ใจ ให้รู้เนื้อ รู้ตัวเป็นปัจจุบัน

           เรานั่งอยู่กันจนฟ้าสางถึงได้คลานลงมาเพราะมันหวาดเสียว แล้วก็มาหุงหาอาหาร จะเรียกอย่างนั้นคงไม่ถูก เพราะเราแค่ต้มน้ำชงกาแฟ โอวัลติน กินกับขนมปังเท่านั้น แล้วก็ช่วยกันเก็บเต็นท์ ให้ลูกหาบแบกลงมา ขากลับคุณปู่ได้ดอนช่วยจูง ที่จริงน่าจะเรียกว่าพยุงมากกว่าเดินข้ามเขา ดอนบอกว่าขากลับน้ำมันหมดแล้ว จึงเบากว่าขามาหลายเท่า ดอนชี้ให้คุณปู่ดูต้นส้าน ซึ่งออกดอกสีเหลืองเต็มต้น ดอกมันคล้ายเหลืองกาญจนา มีขึ้นอยู่ในป่า ทั้งภาคเหนือ ภาคกลางและภาคใต้ ซึ่งเคยบอกใครๆไปด้วยความเข้าใจผิด ลูกของมันแกงกินได้ มีทั้งลูกเล็ก ลูกใหญ่ ขายกันแพงเหมือนกัน เมื่อสุกจะหล่นลงมาใต้ต้น เก้ง กวาง เลียงผา ชอบมากิน แต่ละต้นอร่อยไม่เท่ากัน คงขึ้นกับพันธ์เหมือนมะม่วงที่มีทั้ง อกร่อง, น้ำดอกไม้, เขียวเสวย เป็นแน่

           เราเดินผ่านป่าอ้อ ป่าหญ้าคา ป่าไม้กวาด โดนใบมันบาดเสียแสบไปทั้งตัวเลย พวกที่เดินไปข้างหน้ากับอาจารย์กะลา มีกุ้ง มียุ้ย มีแอ๋ว มีพี่แป๊ว เดินถึงที่ร่มก็จะนั่งพักกัน พอคุณปู่เดินมาทันก็จะเดินกันต่อทันที เล่นเอาคุณปู่ไม่ได้พักเลย

           อาจารย์สงสารเลยนั่งรอ แอ๋วเลยถือโอกาสถามอาจารย์ว่า

           ทำไมต้องมาเดินธุดงค์ซ้ำแล้ว ซ้ำเล่าอีก อาจารย์ตอบว่า เรามาเพื่อฝึกให้เห็น “ ทุกข์ ” จนคุ้นกับมัน จนเห็นว่ามันเป็น “ ธรรมดา ” อย่างที่เราเดินบนสันเขา อาจจะรู้สึกหวาดเสียว ถ้าเดินบ่อยๆ มันจะรู้สึกเป็น “ ธรรมดา ” ไปในที่สุด และถ้าเราอยู่บ้านสบายเป็นคุณหนู ก็จะไม่รู้ถึงความลำบาก ตรากตรำ ของการนอนกับดิน กินกับทราย ร้อนสุดๆเป็นอย่างไร, หนาวสุดๆเป็นอย่างไรไม่รู้, เมื่อมีปัญหาทำให้ ทุกข์ ก็ทนไม่ได้ อาจฆ่าตัวตาย อย่างพวกวัยรุ่น หรือ นิสิตนักศึกษาชาวญี่ปุ่น เป็นต้น เรามาฝึกมาเรียนรู้ มาเห็นธรรมชาติ ก็จะเห็นว่า กายเรานี้, ใจเรานี้ , เป็นเพียงสิ่งสมมติ เป็นองค์ประกอบของ ดิน – น้ำ – ลม – ไฟ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา แต่ปัจจุบันคนส่วนใหญ่ไปยึดติดอยู่ในวัตถุ เช่น โทรศัพท์มือถือ, ตู้เย็น, ทีวี, พอไม่มีแล้วก็เป็นทุกข์ มิหนำซ้ำทำให้ชีวิตชาวบ้านอย่างชาวเหมืองแร่อีต่องนี้ ที่อยู่กันอย่างพอเพียง และเพียงพอ พลอยยึดติดกับวัตถุเหล่านี้ไปด้วย กลายเป็นทาสของวัตถุไป ทำให้วิถีชีวิตของเขาเปลี่ยนไป, เมื่อเราไปผูกพันกับวัตถุ, ไปผูกพันกับลูกกับสามีว่าเป็นของเรา ก็ทำให้เกิดทุกข์ เมื่อสามีไปมีกิ๊ก, สาเหตุเพราะความไม่รู้ หรืออวิชชา ถ้าเราฝึกให้ตื่นรู้ เราก็จะไม่ยึด ไม่หลงเพลิดเพลินเกินไปกับในสิ่งที่เราครอบครองอยู่, ต้องรู้ว่ามันเป็นไตรลักษณ์  เกิด – ดับ ตลอดเวลา ไม่ถาวร ถ้าสุขได้ ก็ทุกข์ได้ และต้องรู้ว่าถ้าทุกข์ปรากฏ สุขก็จะไม่ปรากฏ แล้วแต่อย่างหนึ่ง อย่างใดที่เด่นชัดกว่ากัน แต่อย่างไรก็ตาม มันผ่านมาแล้ว มันก็จะผ่านไป อย่าไป IN – อม – จม – ลอย กับมัน แล้วก็อย่ากลัวทุกข์, อย่ากลัวสุข แต่ต้องทำความดีเข้าไว้ !

           ฉะนั้นอย่ากล่าวโทษ อย่าปรุงแต่ง ไม่ต้องไปให้ค่า ให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ  ตามคำกล่าวของท่านพุทธทาส ที่ว่า ตถาตา คือ มันเป็นเช่นนั้นเอง แม้แต่ธรรมคู่ เช่น สุข – ทุกข์ สุดท้ายก็เท่ากัน คือ นิโรธะ เพราะทุกข์ก็บ่แน่ สุขก็บ่แน่ อย่างที่หลวงพ่อชาว่าไว้ สุดท้ายก็เหลือความว่างเปล่า ฉะนั้นให้เข้าถึงจิตตื่น เข้าถึงธรรมชาติ เข้าถึงพุทธะ อาจจะอย่างเชื่องช้า หรือ ฉับพลัน อย่างที่เว่ยหล่างว่าไว้ก็ได้

           พอพักกันหายเหนื่อยเราก็เดินต่อ พวกสาวๆก็เดินกันอย่างฉับพลัน แต่คุณปู่เดินกันอย่างเชื่องช้า รวมทั้งพี่แขก พี่ป้อม บุ้ง คุณสำรวย แล้วมีเพ็ชรกับเล็ก และดอนเดินเป็นพี่เลี้ยงคุณปู่ไปด้วย เราเดินมาอีกครึ่งชั่วโมง พอถึงป่าโปร่งก็นั่งพักกัน

           พี่แขกถามว่าถ้าเราไม่เห็นสภาวธรรมที่เกิดขึ้นในใจจะทำอย่างไร? คุณปู่เลยอธิบายให้ฟังว่า ปกติ จิตของเราจะไม่ว่างจากอารมณ์ คนที่ไม่เห็นสภาวะของจิต คือ คนที่ตกภวังค์ คือ หลับไป หรือลงไปในสมาธิลึกๆ แต่ผู้ที่ฝึกสติใหม่ๆจะเห็นเฉพาะสภาวธรรมที่แรงๆ เช่น ความโกรธ มันจะมีความรู้สึกอึดอัดขัดเคือง แน่นหัวอกหัวใจ ทำให้สังเกตเห็นง่าย แต่สภาวะอื่นๆเช่น ความโลภ ความอยากได้ หรือ ราคะ จริตบางทีเราก็มองไม่เห็น เพราะเราไป IN – อม – จม – ลอย กับมัน เหมือนอย่างที่อาจารย์กะลาว่า และโดยเฉพาะความหลง เช่นหลงไปทางตา มองสาวๆเพลินไม่เห็นอาการที่ถลำลงไปในตา หรือทางหู ก็เพลินไปกับเสียงเพลงเพราะๆ อย่างรุ่นคุณปู่ ก็เพลินเพลงของสุนทราภรณ์ หรือเพลินไปในความคิด กว่าจะเห็นว่าคิด บางทีคิดตั้งแต่เช้า มารู้ตัวเอาตอนเย็น เป็นต้น แต่คนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้ปฏิบัติธรรมก็จะหลงไปตลอดเวลา เรียกว่ามี โมหะตลอดชีวิตเลย ไม่เคยรู้เนื้อ รู้ตัวก็ว่าได้ เพราะแม้แต่สภาวธรรมก็ไม่รู้จัก จึงหลงไปตลอดทั้งชาตินี้ และชาติหน้า, หลงในกิน, ในกาม, ในเกียรติ, หลงในโลกธรรมแปด คือ ลาภ, ยศ, สรรเสริญ, สุข, และเมื่อมีความเสื่อมลาภ, เสื่อมยศ, นินทา, ทุกข์ ก็จมไปกับมัน และโดยปกติแล้ว ธรรมชาติทั้งหลายจะเป็นธรรมคู่ เช่น สุข คู่กับ ทุกข์, ร้อน คู่กับหนาว, ฉะนั้นในความโกรธ ก็มีความไม่โกรธ เป็นของคู่กัน ถ้าเราเห็นสภาวธรรมของความโกรธได้ ก็ควรเห็นสภาวธรรมของความไม่โกรธได้ด้วย เช่นเดียวกัน กับความโลภ ก็มีสภาวธรรมของความไม่โลภคู่กัน และความหลงจะคู่กับรู้ คือรู้เนื้อ รู้ตัว ถ้าเข้าใจในปริยัติธรรมนี้ แล้วก็จะช่วยให้การปฏิบัติเป็นไปได้ถูกต้อง แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าดูสภาวธรรมทางจิตไม่เห็นหรือไม่ทัน, ก็ดูกาย ก็ได้ เพราะในหลักของสติปัฏฐาน 4 นั้น ดูได้ทั้ง กาย เวทนา จิต และธรรม การดูกาย ก็ให้ดูอริยบถใหญ่ๆทั้ง 4 อย่างก่อน คือ ดูว่ากายอยู่ในท่านั่ง, ท่านอน, ท่ายืน หรือ ท่าเดินอยู่ และถ้าดูให้ละเอียดลงไป คือ มีสัมปชัญญะ ประกอบด้วย เช่น ถ้านั่งอยู่ก็ดูว่านั่งอยู่ แล้วมีลมหายใจ เข้า – ออก หรือท้อง พอง – ยุบ เป็นต้น หรืออยู่ในท่าเดิน ก็อาจเห็นรายละเอียดลึกลงไปอีกได้ เช่น เท้าไปกระทบพื้นก็รู้สึก, เย็น – ร้อน อ่อน – แข็ง, ไหว – ตึง ก็รู้สึก เป็นต้น แล้วแต่สภาวะไหนจะเด่นชัดกว่ากัน แต่ต้องไม่ไปเพ่งจ้อง, ไม่ต้องไปก้าวก่าย, ไม่ต้องไปแทรกแซง, ไม่ต้องไปจัดแจงอย่างที่อาจารย์กะลาเคยกล่าวไว้ และข้อสำคัญ อาจมีสภาวธรรมที่เป็นอุเบกขาเกิดขึ้น คือ ความเฉยๆ และความเฉยๆนั้น มี 2 อย่าง คือ เฉย เพราะหลงหรือมีโมหะ กับเฉยที่เป็นอุเบกขา คือ รู้เนื้อ รู้ตัวด้วย

           พี่แขกถามต่อไปว่า ทำไมต้องเจริญสติด้วย  เพราะพวกเราเรียนจากหลวงพ่อวิริยังค์ ท่านก็สอนแต่สมาธิ

           คุณปู่เลยบอกว่า หลวงตามหาบัวเคยพูดไว้ว่า การเจริญสมาธิอย่างเดียวไม่ทำให้เกิดปัญญา แม้ว่าเหตุใกล้ของปัญญา คือ สมาธิก็ตาม, แต่ต้องเป็นสัมมาสมาธิ คือ มีความรู้เนื้อ รู้ตัว มีสติกำกับด้วย มิฉะนั้นจะเป็นมิจฉาสมาธิ คือ ตกภวังค์ ลืมเนื้อ ลืมตัว อยู่ในสภาพสลึม สลือ หรือหลับใน ซึ่งใช้ไม่ได้และการจะเข้าถึงปัญญานั้น ต้องเริ่มจากทาน คือการให้ ที่เป็นการสละออก ไม่ใช่ให้เพราะเรามีเหลือเฟือแล้วจึงให้ อย่างนั้นเขาเรียกว่าการแบ่งปันกันมากกว่า การให้ต้องเป็นการสละออกจริงๆ เช่น บริจาคโลหิต ซึ่งเป็นการให้ที่ยาก แต่ผู้ให้จะรู้สึกว่าเป็นการสละออกอย่างแท้จริง, การใส่บาตรก็ต้องเอาของดีที่สุดใส่ เพื่อเป็นการสละออก แต่ส่วนใหญ่ใส่ของดีๆก็เพื่อหวังร่ำหวังรวย คือหวังผลตอบแทนไม่ใช่ให้ด้วยการตั้งใจสละออก และผู้รับต้องเป็นผู้สมควรแก่การรับ เช่น ถ้าให้เงินกับขี้เมาไปกินเหล้าก็ไม่ถูก, มีเรื่องเล่าว่า มีลูกสาวคุณยายคนหนึ่งชอบทำบุญใส่บาตรมาก วันหนึ่ง เตรียมกล้วยไว้หวีหนึ่งเพื่อใส่บาตร คืนนั้นแม่ที่อยู่บ้านเดียวกันตื่นมากลางดึกหิวก็เลยจะหยิบกล้วยมารัปทานสักผลหนึ่ง พอดีลูกสาวตื่นมาเห็นเข้า ตวาดแม่แว๊ด “ไม่ได้นะแม่ หนูจะเอาไว้ใส่บาตร” แม่เลยต้องหดมือเข้ามา

           เช้าขึ้น หลวงตามารับบาตร ลูกสาวจะเอากล้วยใส่บาตร หลวงตาไม่ยอมรับ บอกว่าให้ใส่บาตรพระในบ้านก่อน แต่ลูกสาวไม่เข้าใจ ตามตื้อจะใส่บาตรหลวงตาให้ได้ หลวงตาก็ไม่ยอมเปิดบาตร แถมบ่นว่า บอกแล้วยังไม่เข้าใจอีก

           เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ก่อนจะทำบุญใส่บาตร ควรดูแลพระในบ้านก่อน เพราะท่านเป็นอรหันต์ของเรา เหมือนอย่างเพลงของคุณ จี.วัน ที่ว่า
                    พระอรหันต์ที่จำพรรษา                 อยู่ในชายคาบ้านเดียวกัน 
                    ลืมตาก็เห็น หลับตาก็เห็น              เป็นใครกัน
                    กราบพระอรหันต์ทันใด                  ได้บุญทันที
                    อะหัง มาตาปิตุนัง ปาเทวันทามิ      อะหัง มาตาปิตุนัง วันทามิ

 
           เรื่องนี้ เป็นเรื่องจริงที่อาจารย์หมวยเอามาเล่าไว้ในสารคดีเรื่อง ครอบครัวเดียวกัน อยากให้ใครที่ฟังเรื่องนี้แล้ว ลองเปิดดูทีวีไทย พีบีเอส สองทุ่มยี่สิบวันพฤหัส เป็นสารคดีที่ดีมาก  คนสัมภาษณ์ สัมภาษณ์ไป น้ำตาก็ไหลไปด้วย

           การให้ทานนั้น เปรียบเสมือนเป็นพื้นดินที่วางโต๊ะ ฉะนั้นต้องเรียบ และแน่นหนา มั่นคง เพราะเป็นฐาน หรือบารมีที่นำไปสู่ มรรคผล นิพพาน ตามหลักของทศบารมี ที่พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญ ก่อนมาประสูติเป็นเจ้าชายสิทธิทัตถะ ซึ่งได้แก่ ทาน, ศีล, ปัญญา, เนกขัมมะ, วิริยะ, ขันติ สัจจะ, อธิษฐาน, เมตตา และอุเบกขา และถ้าเปรียบเทียบกับต้นไม้ ทานก็เหมือน ใบไม้ ที่จะให้ร่มเงา ความสุขใจแก่ผู้บำเพ็ญ

           สำหรับศีล หลวงพ่ออำนาจบอกว่า เปรียบเหมือนกับโต๊ะที่ใช้วางเทียน คือสมาธิวางอยู่ และมีตัวเปลวไฟของเทียนคือ ปัญญาส่องสว่างอยู่ ดังนั้น ศีล คือโต๊ะ ต้องมั่นคง แข็งแรง เพราะศีล เป็นข้อกั้นไม่ให้เราล่วงไปในอกุศลทั้งหลาย ทั้งกาย, วาจา และมันจะเลยไปถึงใจ เพราะถ้าเรามีอินทรีย์สังวรณ์ ศีล คือสำรวมลงที่ใจด้วย มันก็กั้นความชั่วทุกอย่าง และถ้าศีลบริสุทธิ์ก็จะทำให้สมาธิมั่นคงด้วย ซึ่งบรรดาพระอริยะทั้งหลายได้เคยกล่าวไว้ เกือบทุกองค์ ถ้าเปรียบกับต้นไม้ ศีล ก็เหมือนสะเก็ดที่ป้องกันความร้อน – หนาว ภัยพิบัติต่างๆให้ต้นไม้

           สำหรับสมาธิ เปรียบเสมือนแท่งเทียน ที่จะเป็นเชื้อเพลิง ทำให้เราจุดไฟแห่งปัญญาขึ้นได้ ถ้าเปรียบต้นไม้ก็เหมือนเปลือกที่คอยส่งน้ำเลี้ยงไปยังลำต้น

           สำหรับปัญญา ก็เหมือนกับเปลวไฟ ที่ให้แสงสว่าง ขับไล่อวิชชา คือความไม่รู้ออกไป ซึ่ง ได้แก่ ความไม่รู้ทุกข์, ไม่รู้เหตุแห่งทุกข์ และไม่รู้จักนิโรธหรือ ความพ้นทุกข์ว่าเป็นอย่างไร และมีอยู่จริง! นอกจากนี้ยังขับไล่ ความมืด คือดำกฤษณา ได้แก่ กิเลศ, ตัณหา, คือความทยานอยาก, ความโลภ, ความโกรธ, ความหลง, ซึ่งเป็นสาเหตุแห่งทุกข์ ออกไป

           ปัญญานี้ถ้าเปรียบกับต้นไม้ ก็ได้แก่ แก่น หรือ แก่นธรรมนั่นเอง ก็คือมรรค อันมีองค์ 8 ได้แก่
  • มรรคองค์ที่ 1 คือ  สัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ  คือเห็นว่า พุทธศาสนามีจริง สอนให้พ้นทุกข์ได้จริง, โดยเห็นในอริยสัจ 4, เห็นในไตรลักษณ์, รู้จักกุศล และอกุศล เห็นในปฏิจจมุปบาท คือ เห็นว่าเพราะมีสิ่งนี้ จึงทำให้เกิดมีสิ่งนี้นี้ขึ้น เช่น เพราะมีอวิชชา คือ ความไม่รู้ จึงทำให้เกิดสังขาร หรือกรรม หรือการกระทำ หรือการปรุงแต่ง, เพราะมีสังขาร จึงทำให้มีวิญญาณ คือความรู้แจ้งในอารมณ์, เพราะมีวิญญาณจึงทำให้เกิด กายกับใจ, จากกาย & ใจ จึงมีตา, หู, จมูก, ลิ้น ฯลฯ หรือ อายาตนะ 6, จากนั้น จึงทำให้เกิด ผัสสะ คือ การกระทบเช่น ตาไปกระทบรูป, หูไปกระทบเสียง ฯลฯ แล้วก็เกิดสุข – ทุกข์ ขึ้น, แล้วก็ทำให้เกิดตัณหา ความทยานอยาก, แล้วก็ทำให้เกิดความยึดมั่น ว่าเป็นเรา เป็นของเรา, ทำให้สร้างภพ หรือวัฏสงสาร คือการกลับมาอีก, และทำให้เกิดชาติ คือความเกิด, ความแก่ และความตาย หมุนไปไม่มีที่สิ้นสุด
  • มรรคองค์ที่ 2 คือ สัมมา สังกัปปะ คือความดำริชอบ เช่น ดำริที่จะออกจาก กาม ดำริที่จะละความพยาบาท, ดำริที่จะไม่เบียดเบียนผู้อื่น หรือสัตว์ทั้งหลาย อย่างเช่น คุณปู่ ทานมังสะวิรัตก็เพื่อจะได้ไม่เบียดเบียนสัตว์ ไม่ต้องให้เขามาตายเพื่อเป็นความเอร็ดอร่อยของเราเท่านั้น!
  • มรรคองค์ที่ 3 คือ สัมมาวาจา ได้แก่การไม่พูดปด ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ้อ ไม่พูดคำหยาบ
  • มรรคองค์ที่ 4 คือ สัมมากัมมันตะ คือ การกระทำชอบ ได้แก่ การไม่ฆ่าสัตว์, ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม
  • มรรคองค์ที่ 5 คือ สัมมาอาชีวะ คือ เลี้ยงชีพชอบ เช่น ไม่เลี้ยงหรือขายสัตว์เพื่อให้เขาเอาไปฆ่า, ไม่ขายยาพิษ เช่น สุรา หรือยาเสพติดรวมทั้งบุหรี่, เหล้าด้วย, ไม่ขายอาวุธให้เขาเอาไปเข่นฆ่ากัน, ไม่ขายมนุษย์เพื่อเอาไปเป็นทาส เป็นต้น
  • มรรคองค์ที่ 6 คือ สัมมาวายา มะ คือ ความพยายามชอบ ได้แก่ : พยายามละอกุศลที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้เกิดขึ้นอีก พยายามละอกุศลที่ยังไม่เกิด ไม่ให้เกิด พยายามทำกุศลที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น พยายามทำกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ให้เจริญยิ่งๆขึ้นไป
  • มรรคองค์ที่ 7 คือ สัมมาสติ คือการระลึกชอบ ได้แก่ การมีสติในกาย, เวทนา, จิต, ธรรม
  • มรรคองค์ที่ 8 คือ สัมมาสมาธิ คือสมาธิที่ตั้งมั่นชอบ คือ เป็นสมาธิที่ไม่ตกอยู่ในความหลับใหล หรือลงภวังค์ เป็นสมาธิที่มีเอกคัตตา ฯลฯ เป็นต้น
           คราวนี้ย้อนมาถึงคำถามที่ว่า เราเจริญสติไปทำไม ที่เจริญไปก็จะได้เห็น เจตสิก หรืออาการของใจที่กิเลสทั้งหลายมากระทบ เห็นแล้วก็รู้ว่ามันเกิดขึ้น มันตั้งอยู่ แล้วมันก็ดับไป ไม่คงทน บังคับบัญชามันไม่ได้ ก็จะเกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย จะเห็นว่า กายนี้ก็ไม่ใช่เรา ใจนี้ก็ไม่ใช่เรา สามารถละสักกายะทิฏฐิ คือความยึดมั่นได้ หมดความลังเลสงสัยในพระธรรม เลิกถือโชคลางต่างๆได้ ทำให้บรรลุเป็นอริยบุคคลขั้นแรก คือเป็นโสดาบัน และต่อไปจะละ กามราคะ คือ ความทะยานอยากได้ ละปฏิฆะ คือ ละโทสะได้ ละความพอใจ ความไม่พอใจได้ ก็จะเป็นพระสกิทาคามี และพระอนาคามี ตามลำดับ และที่สุดก็จะละสังโยชน์ 10 และกิเลสทั้ง 10 กองได้ ก็จะได้เป็นพระอรหันต์ เข้าถึงสอุปาทิเสสนิพพาน คือเป็นผู้ที่ไร้กิเลส และไร้ทุกข์ โดยสิ้นเชิงนั่นเอง

           พี่ป้อมถามต่อไปว่า “เวลาทำงาน เมื่ออ่านรายงานวิเคราะห์การเงินแล้ว มันจะหลับอยู่เรื่อย ทำอย่างไรดี”

           คุณปู่แนะนำว่า ทำได้ 2 ทาง
  1. ที่ง่วงเพราะขาดฉันทะ คือความรัก ความพอใจในงาน ต้องสร้างฉันทะ คือความรักในงานก่อน, ซึ่งเราอาจจะเบื่อเพราะเห็นว่าเขาวิเคราะห์มาแล้วไม่ดีพอ, ไม่ถูกต้อง, ไม่ถูกใจ, เราก็แก้ไขโดยคอยจ้องจับผิดเขา เพราะนิสัยคนเรามักจะเห็นความผิดของคนอื่นได้ง่าย แม้ความผิดเพียงเมล็ดงา ก็เห็นว่าใหญ่เป็นภูเขาเลากา เล่าแจ้ง แต่ความผิดตัวเองแม้เท่ามหาสมุทร ก็ดูประดุจน้ำหยดเดียว ฉะนั้นถ้าเราเอาสิ่งนี้มาเป็นประโยชน์ดูว่าการวิเคราะห์ของเขาไม่เหมาะสมตรงไหนก็หยิบเอาออกมาวิเคราะห์ใหม่ แล้วทำข้อเสนอแนะให้เจ้านาย เหมือนสมัยคุณปู่เป็นผู้อำนวยการกองควบคุมคุณภาพน้ำ, การประปานครหลวง งานที่ทำเป็นงานรูทีนคือ เป็นงานปะจำ มันซ้ำๆกันทุกวันน่าเบื่อ คุณปู่ก็เอาผลวิเคราะห์นี้มาทำเป็นโครงการวิจัยไปเสนอผลงานที่มหาวิทยาลัยเกษตร, เสนอเจ้านาย ใส่ชื่อลูกน้องเป็นคนรวบรวม ทุกคนก็แฮปปี้  ฉะนั้นวิธีแก้ไขวิธีที่ 1 ก็คือ สร้างความต่างในความเหมือน ก็จะสนุกในงาน
  2. วิธีที่ 2 ก็คือ เปลี่ยนงาน แต่ขณะนี้คงยาก เพราะคนตกงานกันมาก เพราะเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทยไม่ดี พี่ป้อมลองเอาไปคิดดู แล้วตัดสินใจเอาเอง
           คุณปู่ตอบคำถามแขกและพี่ป้อมแล้ว เราก็เดินกันต่อ มาพบอาจารย์กะลารออยู่ เพราะกลัวหลงทาง เนื่องจากมีประสบการณ์มา 2 หนแล้ว พี่ป้อมก็ถามอาจารย์อีกว่าทำงานแล้วง่วงจะทำอย่างไรดี อาจารย์แนะนำว่า ก็ลุกเดินไปห้องน้ำ ห้องท่า หรือเดินขึ้นตึกลงตึกสัก 2 – 3 เที่ยว เดี๋ยวก็หาย

           เราเดินมาถึงที่ทำการของ ปตท. ซึ่งดอนพักอยู่ที่นี่ แล้วไปเอาน้ำกรองมาให้เราดื่มรสชาติดีมาก เพราะน้ำที่พกกันมาคนละ 2 ขวด หมดเกลี้ยงทุกคน และไปจับเต่าปากนกแก้วที่เลี้ยงไว้มาให้เราดู เป็นเต่าหางยาวมาก ยังกับเต่าปูลู ดอนบอกว่ามันสามารถปีนต้นส้านขึ้นไปกินลูกที่สุกได้ เพราะเล็บมันยาว งอคุ้ม เกาะต้นไม้ได้ดี

           เราออกมาจากที่พักของดอน เดินผ่านสถานีส่งแก๊ส ไต่เนินที่ย้อยขึ้นไป เป็นศัพท์ของดอน ซึ่งเราคิดว่าย้อยลง มันกลับย้อยขึ้น  พอไปถึงโรงเรียนที่ลูกหาบเอาของมากองรวมกัน คุณปู่เลยหยิบถุงนอนให้ดอนไว้ใช้ 1 อัน  แล้วให้สตางค์ไปอีก 300 เล็กสมทบอีก 200 และเพ็ชรอีก 200 เลยบอกดอนให้แบ่งให้เพื่อนๆด้วย เพื่อเป็นการแสดงน้ำใจ เพราะเป็นสินน้ำใจนอกเหนือจากได้จากค่าแรงแล้ว

           เราไปกินข้าวกันที่ร้านเจ๊ต้อย ที่กุ้งล่วงหน้ามาสั่งไว้ก่อนแล้ว ทานข้าวเสร็จ ก็อาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าขึ้นรถมุ่งหน้าไปยังไทรโยคใหญ่บ้านของแขก เราผ่านเขื่อนวชิราลงกรณ์ เห็นทะเลสาบที่เคยมาพักค้างคืนในแพที่นี่ สองข้างทางมีต้นราชพฤกษ์ออกดอกบานไสวดูแล้วเหมือนซากุระจังเลย

           เราผ่านวัดสุนันทวรารามของท่านมิตซูโอะ เลยทางเข้าน้ำตกไทรโยคมาหน่อยก็ถึงทางเข้าบ้านแขก เราผ่านหมู่บ้านที่เป็น อบต. หลายแห่ง เลยทำให้ได้ถนนคอนกรีตหลายช่วง ชาวบ้านที่นี่จะทำไร่มันสำปะหลัง และทำสวนเงาะ สวนลองกอง สวนขนุน สวนฝรั่ง ที่บ้านแขกมีเนื้อที่ 3 ไร่เศษ อยู่ติดแม่น้ำแควน้อย มีบ้านปลูกเป็นล็อกคอทเทจ น่าอยู่มาก พอมาถึง อาจารย์กะลาไม่พูดพร่ำทำเพลง โผลงแม่น้ำไปก่อนเลย พวกเราเปลี่ยนเสื้อผาเสร็จก็ตามลงไป น้ำที่นี่ใสน่าเล่นมาก ที่บ้านแขกมีเรือให้พายเล่น แต่เราไม่มีเวลา แขกเลยชวนมาใหม่ คราวหน้ามาธุดงค์กันที่เทือกเขาฝั่งตรงข้ามที่เป็นหมู่บ้านกะเหรี่ยง และมีป่าดงดิบ มีสัตว์ป่ามากมาย และฝั่งตรงข้ามมีที่ดินจะขายไร่ละ 4 หมื่นบาทเท่านั้น ปรารภกันว่าน่ามาซื้อสักคนละ 3 ไร่ แล้วมาจัดทาวน์แปลนนิ่ง จะได้ทำไร่นาสวนผสม โรงบำบัดน้ำเสีย และโรงงานผลิตน้ำประปา ทำระบบชลประทานชักน้ำเข้าสวนคงไม่เลว  เราออกจากบ้านแขก 6 โมงกว่า แวะกินข้าวที่น้ำตกเขาพัง แล้วซื้อของฝาก เสร็จแล้วตีรถเข้ากรุงเทพ มาถึง TOT ของกุ้งสองยามพอดี แล้วแยกย้ายกันกลับ นัดว่าคราวหน้าไปพบกันที่ภูทับเบิก ช่วงวิสาขบูชา

           การธุดงค์ครั้งนี้ ลืมเล่าไปอีกว่า ไอ้เขียว หมาของหมู่บ้าน บ้านอีต่อง เป็นพระเอกตลอดทาง เพราะวิ่งนำหน้าอาจารย์กะลา ทั้งขึ้นเขาและลงเขา ทำเอายุพาเพื่อนแอ๋วต้องเอาไอ้เขียวเป็นที่พึ่งทำใจให้กล้า หายกลัวความสูง กัดฟันเดินลงเขาอย่างอาจหาญตามไอ้เขียวมาอย่างกระชั้นชิด มิฉะนั้นจะอายหมามันได้ ใครจะไปเดินธุดงค์คราวหน้า จะเอาไอ้เขียวไปเป็นเพื่อนก็ได้นะ

 
คุณปู่  
 
 
บทสัมภาษณ์
- สัมภาษณ์ผู้ปฏิบัติธรรม [4 พฤศจิกายน 2556 17:45 น.]
- สัมภาษณ์นักเรียนรับทุน [4 พฤศจิกายน 2556 17:45 น.]
- ธุดงค์ภูทับเบิก2 [4 พฤศจิกายน 2556 17:45 น.]
- ธุดงค์ดอยอินทนนท์ [4 พฤศจิกายน 2556 17:45 น.]
- ธุดงค์เขาช้างเผือก [4 พฤศจิกายน 2556 17:45 น.]
- สัมภาษณ์ผู้ป่วยโรคเอดส์ [4 พฤศจิกายน 2556 17:45 น.]
- สัมภาษณ์ผู้ป่วยโรคไต [4 พฤศจิกายน 2556 17:45 น.]
ดูทั้งหมด

Copyright by thaigoodwill.org