
|
- นายฮง ทองสุข อายุ 55 ปี อาชีพทำนา+ลี้ยงโคนม สิทธิ์การรักษาบัตรทอง
- ภรรยา อายุ 50 ปี อาชีพทำนา บุตรชาย 1 คน อาชีพรับจ้างส่งสินค้าตามร้านค้าในหมู่บ้าน
- บุตรสาว 2 คน คนโต อายุ 30 ปี แต่งงานมีครอบครัวแล้ว อาชีพรับจ้าง
- บุตรชายคนรอง อายุ 24 ปี โสด อาชีพรับจ้างส่งสินค้าตามร้านค้าในหมู่บ้าน
- บุตรสาวคนเล็ก อายุ 20 ปี กำลังศึกษาอยู่ และเลี้ยงโคนม รีดนม
|
รายนี้รักษากับเรามา 1 เดือน เลยขอข้อมูลเพื่อส่งให้มูลนิธิฯ ผู้ป่วยอนุญาต ยินดีให้ข้อมูลและภาพด้วย
|
1.รู้จักหน่วยเราได้ยังไง จากใคร ทำไมมารักษาที่เรา คำตอบที่ได้รับ คือ
รู้จักหน่วยเราจากผู้ป่วยอื่นที่เคยมารักษาที่เรามาก่อน เขานั่งรอตรวจรักษาที่ รพ.ขอนแก่นด้วยกัน คุยกันไปเรื่อยๆ ตอนแรกไม่เชื่อไม่เคยรู้จักว่ามีมูลนิธิฯ ที่ รพ.ศรีนครินทร์ คิดว่าอาจเป็นแค่ข่าวลือ คนพูดต่อๆกันมา รพ.ศรีนครินทร์ใหญ่มาก หน่วยจะอยู่ตรงไหนของโรงพยาบาลก็ไม่รู้ พอต้องมารักษาจริงคุณหมอ รพ.ขอนแก่นก็เขียนใบส่งตัวมาให้ ก็ยังไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหน จะไปยังไง คือเหตุผลที่ต้องมาตามหาถึง 3 ครั้งกว่าจะเจอ พอลูกสาวลงบ้านมาแกบอกว่าพนมมือท่วมหัวขอให้เจอสักทีเถอะ ค่ารักษา 2500 บาท/ครั้ง ที่ต้องจ่ายมันหาลำบาก มาทั้งๆที่ไม่รู้ว่าจะได้จ่ายค่ารักษาเท่าไหร่ คิดแค่ว่าค่าฟอกน่าจะถูกกว่าที่อื่นเพราะเป็นมูลนิธิฯ พอลูกสาวโทรบอกว่าหมอให้พาพ่อมาหาพรุ่งนี้ จะตรวจร่างกาย ซักประวัติผู้ป่วยก่อน แล้วค่อยฟอกเลือด แกก็งงงงบทจะง่ายมันจะง่ายขนาดนั้น หาหน่วยเจอปั๊บ นัดฟอกเลือดปุ๊บ พอถึงเช้าวันรุ่งขึ้นครั้งแรกที่เจอผู้ป่วย ลุงแกหน้าระรื่นมาก สดชื่นผิดจากผู้ป่วยรายอื่นๆ ซึ่งจะค่อนข้างอมทุกข์ เครียดๆ ทั้งๆที่สภาพที่เราเห็นลุงแกครั้งแรก คือ หิ้วถุงปัสสาวะที่ใส่สายสวนคาไว้ในมือข้างนึง อีกข้างนึงหิ้วถุงระบายน้ำจากไต ลุงแกบอกรู้สึกดีและมีความสุขมากที่ได้รักษาที่เรา ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในครอบครัวได้มาก แม้ว่าจะพอมีรายได้จากการขายน้ำนมวัวที่รีดได้ แต้ถ้าต้องจ่าย 2500 บาท/ครั้งก็จ่ายไม่ไหว พอจะถึงนัดครั้งต่อไป ในอีก 3 วันข้างหน้ามันเครียดรอเลย ต้องหาเงิน 2500 บาทมาจ่ายอีกแล้วเพราะในแต่ละเดือนมีเงินเหลือประมาณ 5000 บาท การมาจ่ายที่เรา 500 บาท/ครั้ง จ่ายได้ หาได้ ลูกๆ 3 คนพอช่วยได้บ้าง ลุงบอกว่าดีใจ ภูมิใจและมีความสุขมากที่ได้มาฟอกเลือดที่เรา รู้สึกเหมือนหนูตกถังข้าวสาร เพราะไม่คิดว่าหน่วยงานแบบนี้จะมีจริง ๆ ขอบคุณมูลนิธิฯ ที่ให้ความช่วยเหลือ
|
รายนี้คงได้ฟอกเลือดที่เรา อีกประมาณ 2 เดือนจนกว่าจะสามารถ เข้าสู่กระบวนการล้างทางช่องท้องเรียบร้อย กรณีผู้ป่วยรายนี้ ตามนโยบายรัฐบาล ถ้าเลือกการรักษาโดยการล้างทางช่องท้อง รัฐจะช่วยเหลือค่าน้ำยาล้างไต และยาฉีดเพิ่มเลือดทั้งหมด แต่กว่าจะได้วางสายจะต้องมีกระบวนการดังนี้
|
- ผู้ป่วยต้องปรับปรุงห้องเพื่อใช้ในระหว่างการทำการรักษาที่บ้านให้เรียบร้อยก่อน
- ให้เจ้าหน้าที่อนามัยใกล้บ้านมาประเมินว่าห้องที่ปรับปรุงผ่านพร้อมใช้ในการรักษา
- นำแบบประเมินบ้านที่ผ่านมาส่งที่หน่วยไตเทียมของโรงพยาบาลที่สมัครไว้
- รอเจ้าหน้าที่ตามตัวไปวางสาย เพราะต้องเช็คคิวแพทย์ที่ผ่าตัด เช็คห้องผ่าตัด เช็คคิวพยาบาลที่จะสอน ช่วงรอวางสายผู้ป่วยที่ของเสียในเลือดคั่งจนสูง ต้องฟอกเลือดโดยเครื่องรอ ซึ่งคิวฟอกที่ รพ.รัฐจะมีน้อย และค่าฟอกแพง คือ 2500 บาท แพทย์จะแก้ปัญหาโยส่งตัวไปฟอกที่ รพ.เอกชนค่าฟอกประมาณ 2000 – 2300 บาท กรณีนี้ผู้ป่วยจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะได้ฟอกเลือดรอประมาณ 1 – 3 เดือน ต้องใช้เงินประมาณ 30000 – 90000 บาท
|
การที่มูลนิธิฯ กำหนดนโยบายหลัก คือ ให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยสิทธิบัตรทองให้ได้รับการฟอกเลือดโดยเครื่องในราคา 500 บาทเพื่อรอวางสายล้างทางช่องท้อง จะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้ผู้ป่วยได้มาก เพราะเป็นช่วงที่ไม่มีหน่วยงาน หรือองค์กรใดช่วยเหลือค่ารักษาได้เลย เป็นช่องว่างที่สิทธิ์การรักษาคือ สิทธิ์บัตรทองก็ไม่ครอบคลุม สิทธิ์การรักษาจะเริ่มเบิกได้เมื่อผู้ป่วยวางสายล้างทางช่องท้องเรียบร้อยแล้วเท่านั้น
|
.jpg)
|
- นางสุวิจิต หารชุมเศษ อายุ 40 ปี อาชีพเก็บของเก่าขาย บ้านอยู่ชุมชนรถไฟ สิทธิ์การรักษาบัตรทอง ล้างทางช่องท้องปี 2551 ล้มเหลวได้เปลี่ยนสิทธิ์เป็นฟอกเลือดฟรี
- สามีอายุ 45 ปี อาชีพรับจ้าง บุตรสาว 4 คน
- บุตรสาวคนโตอายุ 20 ปี มีครอบครัวแล้ว
- บุตรสาวคนรองอายุ 18 ปี อาชีพรับจ้างอยู่ต่างจังหวัด
- บุตรสาวอีกคนอายุ 11 ปี กำลังเรียนชั้นประถมศึกษา
- บุตรสาวคนเล็กอายุ 7 ขวบ กำลังเรียนชั้นอนุบาล
ผู้ป่วยรายนี้จะมีปัญหาครอบครัวตลอด สามีติดเหล้า ไม่ประกอบอาชีพจริงจังลูกสาวคนโตติดยา ไม่มีอาชีพ ลูกเขยอาชีพรับจ้างดูแลกันไม่ได้ หลาน 1 คนลูกสาวก็เอามาฝากผู้ป่วยเลี้ยง ลูกสาวอีก 2 คนก็ยังเด็ก เวลาผู้ป่วยไม่สบายต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลจะให้ลูกคนเล็ก 6 ขวบไปนอนเฝ้า ลูกอีกคนดูแลหลาน ลูกคนโต และสามีไม่ยอมมาดูแลเวลาเครียดผู้ป่วยจะพูดระบายให้ฟัง เดิมผู้ป่วยล้างทางช่องท้องที่ รพ.ศรีนครินทร์ ประมาณปี 2551 แต่ติดเชื้อจึงได้รับการเปลี่ยนสิทธิ์เป็นฟอกเลือดฟรี และได้ฟอกเลือดที่ รพ.เอกชนแห่งหนึ่งค่าฟอกเลือดตามสิทธิ์การรักษาจะเบิกได้ 1500 บาท แต่สถานพยาบาลส่วนใหญ่จะเรียกเก็บค่ารักษา 1800 – 2000 บาท/ครั้ง จึงต้องเรียกเก็บเพิ่มจากผู้ป่วยอีก 300 – 500 บาทต่อครั้ง แพทย์ที่ดูแลสงสารรู้สภาพครอบครัวผู้ป่วยจึงไม่เก็บค่าตรวจรักษาผู้ป่วยจึงไม่ต้องจ่ายส่วนเกินเหมือนผู้ป่วยรายอื่นๆ ปลายปี 2555 สถานพยาบาลที่ผู้ป่วยรักษาอยู่ได้ปิดกิจการลงผู้ป่วยรายนี้มีฐานะที่ยากจนมากบ่อยครั้งที่ต้องเร่ขอเงินเขากินไปวันๆ ร่างกายก็ไม่แข็งแรง เดินขากะเผลก สามีและลูกก็ไม่สามารถพึ่งพาได้ ทุกคนเกาะผู้ป่วยกิน ผู้ป่วยจึงไม่สามารถไปฟอกเลือดที่สถานพยาบาลอื่นได้ ในขอนแก่นไม่ได้มีทางเลือกให้ผู้ป่วยมากนัก มีคลินิก 2 ที่ที่รับผู้ป่วยบัตรทองมี 4 เครื่องคิวก็เต็ม รพ.เอกชน 2 แห่งไม่รับผู้ป่วยบัตรทอง รพ.รัฐ 2 แห่งไม่มีคิวให้แม้มีคิวให้ผู้ป่วยก็ต้องจ่ายส่วนเกิน 300 -500 บาทอยู่ดี แพทย์ที่ดูแลอยู่ติดต่อประสานงานให้ ขอให้มูลนิธิฯ ให้การช่วยเหลือขั้นต้นก่อนเพราะเราเป็นสถานพยาบาลเดียวที่ไม่เก็บค่ารักษาส่วนเกิน ในกรณีผู้ป่วยสิทธิบัตรทองที่ได้สิทธิ์ฟอกเลือดฟรีแล้วผู้ป่วยรายอื่นๆ เขาพอจะมีเงินจ่ายค่ารักษาที่อื่นได้ แพทย์ก็ส่งตัวกระจายออกไปตามสถานพยาบาลต่างๆรวมถึง รพ.ระดับอำเภอที่มีหน่วยงานไตเทียมผู้ป่วยเอาเอกสารมายื่นต้นมกราคม 2556 โชคดีที่ตรงตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการรับผู้ป่วยเข้ารักษา ทีมจึงรับไว้แต่แจ้งเงื่อนไขว่าจะช่วยเหลือชั่วคราวกว่าจะมีที่ไปหรือมีสถานพยาบาลใหม่เปิดขึ้นมา ปัจจุบันรักษาที่เรามานาน 9 เดือนแล้ว คลินิกใหม่เปิดแล้วเขาก็เก็บส่วนเกินทุกที่คาดว่าผู้ป่วยรายนี้น่าจะติดแหง็กอยู่ที่เราตลอดไป การดูแลผู้ป่วยรายนี้ประสบปัญหามากมายด้วยฐานะที่ยากจน การใช้ชีวิตด้วยความลำบากยากเข็ญ สภาพครอบครัวที่ไม่เอื้ออำนวย ไม่รู้หนังสือ อ่านไม่ออก เขียนได้เฉพาะชื่อตัวเอง ฯลฯ การดูแลตัวเองที่ไม่ถูกต้องกินยาไม่ครบ จัดยาให้ก็อ่านไม่ออกว่ายาอะไร กินยังไงเวลาไหนบ้าง คนใน ครอบครัวก็ไม่ช่วย ความดันสูงตลอดเพราะกินยาไม่ถูก พยาบาลต้องมานั่งจัดยาตัวอย่างใส่ซองให้ เช้า-เที่ยง-เย็น-ก่อนนอน พอยาหมดก็แกะในถุงตัวอย่างมากิน วันต่อมาก็กินยาไม่ถูกอีก ช่วงไหนลูกคนเล็กๆอ่านซองยาให้และจัดใส่กล่องไว้ให้ก็จะกินยาถูก ความดันเลือดดี ผ่านมากว่า 5 เดือนยังดูแย่ จนยื่นคำขาดว่าเราทำให้ขนาดนี้แล้ว ถ้ายังกินยาไม่ถูกความดันยังสูงไม่ดูแลตัวเองห้ดีขึ้นเราจะไม่ให้รักษาที่หน่วยแล้ว (เพราะเรารู้ว่าเขาไม่มีที่ไปเลยกดดันเยอะหน่อย) ผู้ป่วยก็พยายามดูแลตัวเองดีขึ้นมาก ควบคุมความดันได้ดีจนเป็นที่น่าพอใจ แพทย์พยาบาลแนะนำให้ไปตรวจรักษาเรื่องปัญหาสุขภาพที่เขาเป็นอยู่ ผู้ป่วยก็จะไปตามที่บอกสุขภาพกายและสุขภาพจิตดีขึ้น ผู้ป่วยบอกเขารู้สึกสบายใจเวลามานอนฟอกเลือดที่หน่วยมีปัญหาในครอบครัวแม้เราช่วยไม่ได้ เราก็รับฟังเขา ไม่วุ่นวายเหมือนครอบครัว เหมือนชุมชนที่เขาอยู่ หลังจากได้รับคำแนะนำ ถูกดุ ด่า สารพัด ฟอกเลือดที่อื่นมาเกือบ 3 ปี ไม่เคยสนใจจะสมัครเข้าโครงการรอเปลี่ยนไต จนมาที่เราแนะนำเยอะมากหลายๆเรื่องผู้ป่วยเริ่มดำเนินการเตรียมตรวจเลือดเพื่อสมัครเข้าโครงการรอเปลี่ยนไต แต่ยังมาเล่าเรื่องปัญหาครอบครัวให้ฟังเป็นระยะๆ เราก็ให้คำแนะนำเท่าที่ช่วยได้บอกผู้ป่วยว่ามูลนิธิฯขอข้อมูลการสัมภาษณ์บางส่วนลงเว็บไซต์ได้ไหม เขาก็ตอบว่าได้
กับคำถามที่ว่าทำไมมารักษาที่เรา
คำตอบคือรู้จักคุณหมอมาก่อน พอคุณหมอแนะนำมาเขาก็มาเพราะไม่มีที่ไปไม่รู้จะไปไหนหลัง รพ.ที่เคยรักษาปิดกิจการ เพราะไม่มีเงินเหมือนคนอื่น เขาเคยรักษาที่ รพ.ศรีนครินทร์ก็จริงและประทับใจการบริการ แต่ก็ไม่เคยรู้จักหน่วยเราเลยมาแล้วก็ประทับใจการดูแล การให้บริการ ไม่ต้องจ่ายส่วนเกิน รู้สึกขอบคุณมูลนิธิฯมากๆ ที่ให้ความช่วยเหลืออย่างดี
|
.jpg)
|
- นางสาวโสมสุดา ศรีพุทธา อายุ 35 ปี อาชีพค้าขาย บ้านอยู่ อ.เมือง จ.ขอนแก่น โสด
- อาศัยอยู่บ้านกับพ่อ แม่ทำแหนมขายส่งตามร้านค้า
- มีพี่น้อง 3 คน
- พี่ชายคนโต มีอาชีพรับจ้างเป็นพนักงานบริษัทที่ต่างจังหวัด
- พี่สาวคนรอง เป็นพนักงานบริษัทอยู่ต่างจังหวัด
ผู้ป่วยเป็นลูกคนเล็ก สิทธิ์การรักษาเบิกจากประกันสังคมผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายตั้งแต่อายุประมาณ 27 ปี หลังเรียนจบด้านช่างศิลป์ก็ทำงานที่กรุงเทพฯ เปิดร้านหนังสือให้เช่า พอป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายโดยไม่ทราบสาเหตุ จึงกลับมาอยู่บ้านกับพ่อแม่ที่ขอนแก่น เริ่มฟอกเลือดโดยเครื่องที่ รพ.เอกชนแห่งหนึ่ง ตั้งแต่ปี 2548 อ.ทวีเป็นแพทย์เจ้าของไข้หลอมในขณะนั้นเป็นพยาบาลไตเทียมได้ดูแลผู้ป่วยรายนี้ตั้งแต่เริ่มฟอกเลือดครั้งแรก รู้จักคุ้นเคยกันในระดับนึง จนลาออกมาทำงานกับมูลนิธิฯ ปี 2551 ได้พบพูดคุยกับผู้ป่วยบ้างนานๆครั้งเวลากลับไปทำงานพาร์ทไทม์ที่ รพ.เอกชน เรารู้ว่าเขามีฝีมือเรื่องการประดิดประดอยเพราะเรียนมาโดยตรงก็ยุให้เขาทำงานฝีมือขายจะได้มีรายได้เสริม ทำตัวให้มีคุณค่าและต้องทำงานมีรายได้เป็นของตัวเองจะได้ไม่รู้สึกไร้ค่า รอพึ่งพาคนอื่นตลอด เขาก็บ่นๆไม่อยากรบกวนพี่ๆเขาเริ่มคิดและลงมือทำและวางขายที่ตลาดรึมบึงแก่นนครบ่อยครั้งที่เจ้าหน้าที่ก็กลายเป็นลูกค้า เขามีความสุขมากได้เงินวันละ 100-200 บาท ไม่มีใครเอาเงินเขาไปใช้ พี่พ่อแม่ยังดูแลเขาเหมือนเดิม หาได้เท่าไหร่ก็เป็นเงินเก็บหมด เขาจะมาเล่าให้ฟังด้วยดวงตาเป็นประกายเพราะมีความสุข เขาทำกิ๊บ ทำโบว์ ทำดอกไม้ผ้าติดรองเท้า ทำนมจากข้าวโพด ขายไปเรื่อยๆ หลอมเคยนำเรื่องราวชีวิตผู้ป่วยรายนี้มาถ่ายทอดให้ผู้ป่วยที่หน่วยเราฟังช่วงต้นปี 2551 (จิตติพงษ์ คำละมุล ปัจจุบันแข็งแรงดี เปลี่ยนไตตั้งแต่ปี 2552) ตอนที่เปิดหน่วยใหม่ๆ ทั้งๆที่ผู้ป่วยเราฟอกเลือดมากว่า 2 ปี ไม่เคยคิดจะลุกขึ้นมาทำงานพอเล่าให้เขาฟังหลังจากย้ายมาฟอกเลือดที่เราได้แค่ 2 เดือน เขาก็มีกำลังใจลุกขึ้นมาทำงาน คือขายเครื่องดื่มและขนมที่โรงเรียนและที่สนามชนไก่ และกลายเป็นอาชีพเสริมของครอบครัวจนปัจจุบัน ผู้ป่วยรายนี้พอมีรายได้เป็นของตัวเองก็ตาเป็นประกายเช่นกันบางวันไม่มีจ่ายค่าฟอกเลือดเพราะจะขอเอาเงินไปซื้อเก็กฮวยมาต้มขายก็ให้ค้างชำระไว้
จนกระทั่งปี 2555 ทราบมาว่าผู้ป่วยรายนี้เริ่มมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายทุกครั้งที่ อ.ทวี ไปเยี่ยมเขาจะเล่าให้อาจารย์ฟังว่าเขาไม่ไหวแล้วเพราะพี่สาวตกงาน รพ.ก็เรียกเก็บค่ารักษาส่วนเกินเพิ่มขึ้นเป็นครั้งละ 850 บาท ไม่รวมค่าฉีดยาอีกครั้งละ 100 บาท เริ่มมีปัญหาในครอบครัวจากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ผู้ป่วยก็เครียดมากตัวเองกลายเป็นภาระหนักของครอบครัวค่ารักษาประมาณเดือนละ 1 หมื่นบาท ขณะนั้นหน่วยเราก็ยังไม่มีนโยบายรับผู้ป่วยประกันสังคมที่ได้สิทธิ์เบิก แต่เริ่มช่วยผู้ป่วยประกันสังคมให้ฟอกเลือดในราคา 500 บาท ช่วงรออนุมัติสิทธิ์เบิก ได้สิทธิ์แล้วต้องไปฟอกที่อื่นเพราะเรายังไม่ได้ทำสัญญากับสำนักงานประกันสังคม กำลังดำเนินการยื่นเรื่องด้านเอกสาร ทราบข่าวผู้ป่วยรายนี้เป็นระยะๆ บางวันหอบเหนื่อยจากน้ำเกินและจากปํญหาหัวใจ เขาจะพยายามทนไม่ยอมดมอ็อกซิเจนเพราะหมายถึงค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มขึ้นอีก ชั่วโมงละ 80-120 บาท ปกติต้องดมจนครบ 4 ชั่วโมงที่นอนฟอกเลือดจนกระทั่งเดือนสิงหาคม 2555 หน่วยเราลงนามสัญญากับสำนักงานประกันสังคมเรียบร้อย จึงเริ่มรับผู้ป่วยประกันสังคมแต่ยังเป็นรายเก่าที่ฟอกเลือดรอสิทธิ์ที่เราพอได้สิทธิ์ก็ให้ผู้ป่วยตัดสินใจจะฟอกเลือดที่เราต่อหรือย้ายไปที่อื่น เพราะเรายังกันคิวให้ผู้ป่วยบัตรทองรอวางสายล้างทางช่องท้องก่อนสิทธิ์อื่นเสมอทีมจึงนั่งคุยกันเรื่องคิวอีกครั้งว่าจะจัดสรรกันอย่างไรเลยมาลงตัวที่กันคิวให้บัตรทองรอวางสาย 8 คิว แบ่งคิวให้สิทธิ์อื่นอีก 10 คิว ดูจากจำนวนผู้ป่วยที่เรารับได้สูงสุดคือ 18 คิว เลยเป็นเหตุผลที่หน่วยรับผู้ป่วยรายนี้เข้ามาต้นเดือนตุลาคม 2555 (ผู้ป่วยเข้าหลักเกณฑ์เงื่อนไขหน่วย) พอรับเข้ามารักษาตัว ผู้ป่วยเล่าให้ฟังว่าช่วงหลังๆเขาไม่ค่อยเจอ อ.ทวี จนวันหนึ่งเขาฟอกเลือดเสร็จเขานั่งรถเข็นกำลังจะกลับบ้าน อ.ทวีเดินออกจากลิฟท์พอดีเขาดีใจมากเกือบร้องไห้ รีบทักอาจารย์พร้อมกับบอกอาจารย์ว่าเขาแย่แล้วเขาไม่ไหวแล้วนะ อาจารย์บอกเขาว่าไม่เป็นไรให้ไปหาคุณหลอมนะเขาดีใจมาก รีบโทรมาหาหลอมก็งงงง อ.ทวี จะให้รับเหรอไม่เห็นอาจารย์บอกอะไรเรา ก็แจ้งให้เขาเตรียมเอกสารมายื่นซึ่งสิทธิ์การรักษาเขาประกันสังคมที่ รพ.ศรีนครินทร์อยู่แล้วก็ไม่มีปัญหาอะไร ฟอกครั้งแรกเขาก็เหนื่อยๆมีความดันตก เราจะให้ดมอ็อกซิเจนเขารีบปฏิเสธทันที เรารีบบอกว่าที่นี่ดมฟรี ไม่คิดเงินหรอก ไม่เอาก็จะให้ ดูแลกันมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2555 จากเหนื่อยๆซีดมากความเข้มเลือดแค่ 24 -25% พอได้รับการดูแลตามสิทธิ์ จ่ายแค่ค่าบริการทางการแพทย์ 30 บาท/ครั้ง ความเครียดเรื่องค่าใช้จ่ายหายไปแล้ว สบายใจขึ้น ยาฉีดเพิ่มเลือดเคยได้แค่ 1-2 หลอด/สัปดาห์ กลายเป็น 3 หลอด/สัปดาห์เต็มที่ เพราะราคายาเราไม่แพง ไม่บวกเพิ่มจากราคากลาง 4 เดือนความเข้มเลือดขึ้นมาสูงกว่า 35 % ผู้ป่วยรู้สึกสดชื่นแข็งแรง กระปรี้กระเปร่าขึ้น ยังขายของเหมือนเดิมเพิ่มปริมาณสินค้าและมาขายตลาดถนนคนเดินทุกวันเสาร์เพิ่มอีก 1 ที่ วันหนึ่งเขาเล่าให้ฟังว่าเขาเก็บเงินได้หลายหมื่นแล้วนะจะช่วยแม่สร้างบ้านเพราะวางแผนจะสร้างบ้านใหม่กัน หนูยังไม่บอกพ่อแม่นะเดี๋ยวพ่อจะหาว่าหนูขี้โม้ พอฟอกเลือดเสร็จบ่ายโมงเขาก็กลับบ้าน พอประมาณ 2 ทุ่ม เขาถูกตามมารับการปลูกถ่ายไต (ในวันที่ 29 เมษายน 2556) หลังรักษาที่เรามาประมาณ 7 เดือน ใจหนึ่งเขาก็คิดว่าไม่น่าได้เพราะเขาถือว่าเขาโชคดีมากแล้วที่ได้ย้ายมารักษาที่เรา ใจหนึ่งเขาก็มั่นใจว่าวันนี้ได้เปลี่ยนไตแน่ ความรู้สึกลึกๆบอกเขาว่ามั่นใจ ไม่เหมือนครั้งก่อนๆที่ถูกตามมา หลังจากรอมานานมาก 8 ปี จนเขาถอดใจแล้ว หมดหวังแล้วไม่เปลี่ยนไตก็ได้ไม่เป็นไร จนคุณหมอถามจะเอาไหมไตน่ะ เขาก็ตอบถ้าได้ก็ยินดีเอาค่ะ หลังเปลี่ยนไตเขาก็เข้ามาเล่นที่หน่วยเวลามาตรวจตามนัด ตอนนี้แข็งแรงขึ้น เขาได้ชีวิตใหม่ เขามีความสุขมาก หลังจากถอดใจไปนานแล้ว หลังผ่าตัดเปลี่ยนไตและ นอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล 3 สัปดาห์ กลับบ้านได้ 5 วันรู้สึกว่างเปล่ามาก เริ่มทำงานต่อในสัปดาห์นั้นเลยขนเอาของที่เก็บไว้มาวางขายที่หน้าบ้านทำไปเรื่อยๆ ขายดีเลยขยายแผงร้านเพิ่มขึ้น ลงสินค้ามากขึ้นเน้นขายเสื้อผ้าเด็ก ไม่ต้องไปขายที่ตลาดอีกแล้วเพราะสภาพสิ่งแวดล้อมไม่เหมาะสำหรับสุขภาพเขา โฆษณาร้านผ่านเฟสบุ๊คด้วย สิ่งที่ทำประจำคือการทำบุญมากขึ้นทุกครั้งที่มีโอกาส วันนี้ (25 กันยายน 2556) ถามเขาก่อนว่าขอสัมภาษณ์และบอกเล่าเรื่องราว ให้มูลนิธิฯ เอาข้อมูลลงเว็บไซต์ได้ไหม เขาบอกได้เลยยินดีมาก ไม่ต้องปิดบังใบหน้านะ
ทำไมมารับการรักษาที่หน่วยเรา เขาตอบเป็นข้อๆให้ดังนี้
- รู้จักกับพยาบาลมาก่อน
- มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย
- มั่นใจในโรงพยาบาล
- ได้เจอ อ.ทวีบ่อยๆ (ห้องฟอกเลือดอยู่ติดห้องทำงานอาจารย์ แต่อาจารย์ที่ดูแลเป็นอาจารย์ท่านอื่น)
- รู้สึกคุ้นเคยสบายใจ ได้รับการดูแลจากพยาบาลอย่างใกล้ชิด
- ใช้อุปกรณ์การแพทย์ที่มีคุณภาพ
- เดินทางสะดวก ประหยัดค่าเดินทาง
- แพทย์และพยาบาลดูแลดีมากๆ จนแข็งแรงสามารถเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนไตได้
ขอขอบคุณทางมูลนิธิจิตานุเคราะห์ที่ให้ชีวิตใหม่ค่ะ
|