สถิติผู้เข้าชม
 ขณะนี้มีผู้เข้าใช้ 2
 ผู้เข้าชมในวันนี้ 1
 ผู้เข้าชมทั้งหมด 843,578
 เปิดเว็บ 26/06/2556
29 เมษายน 2567
อา จ. อ. พ. พฤ ศ. ส.
 
10  11  12  13 
14  15  16  17  18  19  20 
21  22  23  24  25  26  27 
28  29  30         
             
  บทสัมภาษณ์
ธุดงค์ดอยอินทนนท์
[4 พฤศจิกายน 2556 17:56 น.]จำนวนผู้เข้าชม 4063 คน
 

ธุดงค์เขาช้างเผือก
 
​​ธุดงค์ดอยอินทนนท์ ธุดงค์ภูทับเบิก2
 
ธุดงค์ดอยอินทนนท์
 
           เมื่อมาฆะบูชาวันที่ 6 – 11 กุมภาพันธ์’ 52 เราไปธุดงค์กันที่ดอยอินทนนท์ จำได้ว่าเมื่อปีที่แล้ว เราไปภูหลวงกัน ซึ่งเป็นทริปแรกของพวกเราเกือบจะทุกคน ยกเว้นกุ้ง ในทริปนี้เราคิดว่าคงไม่โหดเหมือนปีที่แล้ว เพราะรถขึ้นได้ถึงยอดดอย เราออกจาก TOT ของกุ้งตอน 6 โมงเย็น แล้วแวะไปทานข้าวต้มที่นครสวรรค์ตอน 2 ยาม แล้วตียาวไปถึงตลาดจอมทองตอนตี 5 กว่าๆ ตอนแรกเราวางแผนว่าจะทานข้าวกันที่ร้านอาหารข้างที่พักกันทุกเมื้อ จะได้ไม่ต้องเสียเวลามาทำอาหารกัน แต่เมื่อเราลงไปช็อปปิ้งกันแล้วปรากฏว่า ผักถูก ผลไม้ถูก ของทุกอย่างถูกอย่างไม่น่าเชื่อ เราเลยขนซื้อผัก ผลไม้ ขนม นม เนย กันขนาดใหญ่ พอซื้อของเสร็จเราก็วิ่งรถมาขึ้นดอยอินทนนท์ เพราะนัดกับอาจารย์กะลาไว้ที่แค้มป์สน กม.28 ราว 8 โมงเช้า แต่ที่ไหนได้คนขับรถ ขับพามาถึงพระมหาธาตุของในหลวง และสมเด็จฯ เราเลยให้จอดรถที่ลานจอดรถและแวะกินข้าวกันเสียที่นั่น เพราะยังไม่ทานข้าวเช้ากันเลย แต่ในทันใดนั้น อาจารย์กะลาก็โผล่ออกมาจากแนวป่าแถวๆนั้นโดยไม่คาดหมาย เราเลยถือโอกาสนิมนต์ท่าน มาร่วมรัปทานอาหารเช้ากับพวกเรา เพราะใกล้จะ 10 โมงอยู่แล้ว พอเราทานข้าวเสร็จ ก็วิ่งขึ้นรถไปที่ยอดดอยอินทนนท์ ซึ่งเป็นจุดสูงสุดของเมืองไทย สูงถึง 2,520 เมตร ที่นี่เป็นที่ตั้งของสถานีเรดาร์ของทหารอากาศ และเป็นที่ตั้งศาลของพระเจ้าอินทรวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ดอยนี้จึงเรียกตามพระนามของท่าน ซึ่งชื่อเดิมของดอย คือ ดอยอ่างกา หรือดอยหลวง ซึ่งแปลว่าภูเขาขนาดใหญ่ ที่ยอดดอยมีร้านขายของที่ระลึก ร้านกาแฟ และสุขาที่มีน้ำไหลแรง สะอาด สะอ้านมาก ใกล้ๆกับร้านกาแฟ ฝั่งตรงข้าม มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ชื่อเส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกา เราถือโอกาสเดินเข้าไป ตลอดเส้นทางเป็นสะพานไม้ ยาว 360 เมตร มีลักษณะเป็นพรุหรือแอ่งน้ำขนาดใหญ่ มีกิ่งไม้ ใบหญ้า ตกทับทมกันอยู่ มีกุหลาบพันธ์ปี ทั้งสีแดง สีขาว ขึ้นอยู่เต็มไปหมด เนื่องจากบนยอดดอยนี้มีอากาศหนาวตลอดปี มีความชื้นสูง จึงมีมอส ขึ้นพันเกี่ยวต้นไม้ อยู่แทบทุกต้น มีเฟริ์นและฝอยลมขึ้นอยู่ทั่วไป ในป่านี้เขาบอกว่ามีนกมากว่า 300 ชนิด จึงเห็นนักท่องเที่ยว และนักปักษีนิยม สะพายกล้องส่องนก, กล้องถ่ายรูปขนาดใหญ่ และกล้องส่องทางไกลมาส่องดูนกกันมากมาย ประจวบกับวันนี้เป็นวันนกโลก หากใครพบนกแล้ว วาดรูปไว้โดยไม่ซ้ำกัน แล้วส่งไปให้องค์การนกโลก จะได้รับเงินค่าตอบแทนตัวละ 1 ดอลล่า นกที่นี่มีสีสวยมาก เช่น นกกินปลีหางยาวสีเขียว และนกกระจิ๊ดคอสีเทา เป็นต้น ซึ่งมีแห่งเดียวในเมืองไทย และที่แนวทางเดิน มีศาลเจ้าพ่อเกียรติ ซึ่งเป็นศาลที่ตั้งขึ้น เพื่อระลึกถึงท่านผู้ที่ขึ้นมาสำรวจดอยอินทนนท์ ครั้งที่มาสร้างสถานีเรดาร์แล้วเฮลิคอปเตอร์ตกเสียชีวิต ยังมีเศษซากเครื่องบินเหลืออยู่ เราสักการะท่านแล้วก็ออกมาข้างนอก เราใช้เวลาในการเดินรอบๆเส้นทางนี้ราวๆ 45 นาทีเท่านั้น พอดีน้องบลูซึ่งจะมาธุดงค์กับเรา แต่ขึ้นมาเชียงใหม่ก่อนเรา ตามมาสมทบกับพวกเราที่นี่ด้วย เราพาน้องบลูเดินเสียอีกรอบหนึ่ง

           เราออกจากยอดดอยตอนใกล้เที่ยง แล้วมาแวะทานข้าวกันที่ร้านเก่า แต่ตอนนี้คนเต็มไปหมด คนขายทำไม่ทัน เหมียว, ปุ่น, ยุ้ย, ต้องไปช่วยแม่ค้าตำส้มตำ เราทานข้าวเสร็จ อาจารย์พาเดินไปที่ลานจอดรถ เราก็งงๆว่าพาพวกเรามาทำไม แต่ที่แท้ ติดๆกับลานจอดรถตรงนั้นคือ เส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน เราต้องไปลงชื่อบอกจำนวนคน ชาย – หญิง ว่ามีกี่คนก่อน จึงจะไปเดินได้ มิหนำซ้ำต้องมีเจ้าหน้าที่ของวนอุทยานตามไปคุมพวกเราด้วย เราค่อยๆไต่ขึ้นเนินไปตามทางเดิน ที่ไม่ลาดชันมากนัก สองข้างทางครึ้มไปด้วยต้นไม้ นานาพรรณ สูงใหญ่ บางต้นใหญ่กว่า 4 คนโอบ มีมอสขึ้นเกาะต้นไม้อยู่ทั่วไป แสดงว่ามีความชื้นสูงในป่านี้เช่นกัน ข้างทางมีธารน้ำไหลเสียงดังจ๊อกๆ มีแอ่งน้ำอยู่ทั่วๆไปเพราะเป็นต้นน้ำของแม่ปิง ที่ไหลลงไปทางด้านอำเภอแม่แจ่ม มีนกส่งเสียงร้องดังลั่นป่า เพราะบนกิ่วแม่ปานนี้เป็นแหล่งที่อยู่ของนกนานาชนิด และเป็นแหล่งดูนกของผู้ที่นิยมชมชอบ, มีกล้วยไม้เกาะดาระดาษบนคาคบไม้กว่า 90 ชนิด, มีเห็ดลักษณะคล้ายเห็ดหลินจือ ขึ้นอยู่หลายต้น มองดูรอบวงแล้วอายุคงไม่ต่ำกว่า 40 ปี เราเดินทะลุมาที่ทุ่งหญ้าทีเกิดขึ้นจริงๆ ไม่ใช่เขาหัวโล้น หรือไร่ร้าง เป็นหญ้าต้นอ่อนๆสะบัดใบไปตามลม ไม่ใช่หญ้าคาหรือหญ้าขน ขึ้นตลอดแนวสันเขายาวราว 800 – 1,000 เมตร และ2 ข้างทางเป็นแนวลาดลงไปที่หุบเขาเบื้องล่าง ซึ่งความสูงชันของสันเขานี้ ไม่ต่ำกว่า 2,200 เมตร จากระดับน้ำทะเล มองลงไปเล่นเอาหวิวๆ แทบเป็นลม มีทางเดินแคบๆเฉพาะตัว ต้องทรงตัวดีๆ มีสติทุกย่างก้าว มิฉะนั้นมีหวังล่วงหล่นลงเขาได้ เดินไปสุดสันเขา มีทางวกเข้าป่าทึบ เราค่อยๆไต่ลงมา, ในป่ามีธารน้ำไหล, มีสะพานข้าม ทำไว้เรียบร้อยแข็งแรงมาก แสดงว่ามีคนมาเดินบ่อยแน่ๆ เราข้ามสะพานได้ ก็มีท่อนไม้ทำเป็นเก้าอี้ให้เรานั่งพักกัน พวกดูนกแซงหน้าเราไปหลายกลุ่มแล้ว มีทั้งผู้หญิง ผู้ชาย เด็ก คนแก่ แสดงว่าปัจจุบันการดูนกเป็นที่นิยมแพร่หลายมาก โดยเฉพาะที่นี่ เรานั่งพักกันพักใหญ่ แล้วก็ออกเดินเลียบริมเขา ริมห้วย และมีสะพานข้ามลำธารอีกไม่ต่ำกว่า 3 แห่ง จนถึงจุดสุดท้าย อาจารย์ก็ขอแรงพวกผู้ชายไปย้ายเต็นท์ที่อาจารย์มากางที่นี่ เมื่อคืนนี้ เราออกมาจากศูนย์ศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปานราวๆ 6 โมงเย็น ล่ำลาเจ้าหน้าที่ วนอุทยานแล้วมาขึ้นรถ เพื่อๆไปยังที่พักกันที่แค้มป์สน สถานที่กางเต็นท์ของวนอุทยานอยู่ที่ กม.28 เรามาถึงที่กางเต็นท์ค่ำพอดี ต้องช่วยกันกางเต็นท์ท่ามกลางความมืด แต่อาศัยที่กางกันชำนาญแล้ว ไม่ช้าก็เสร็จหมด รวมทั้งของอาจารย์ด้วย เราแยกย้ายกันไปอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า แล้วมานั่งรวมกันท่ามกลางความหนาวราวๆ 5 °C หนาวสุดๆ และก็ก่อไฟไม่ได้ เพราะเป็นกฎห้ามของที่นี่ เราจุดเตาแก๊สชงอะไรดื่มกัน และทานผลไม้เป็นหลัก ไม่ได้ทานอาหารหนัก เราได้ยินเสียงนักท่องเที่ยว ดีดกีต้าร์ เคาะไม้ ร้องเพลง แว่วตามลมมาเป็นระยะๆ ซึ่งเป็นเสียงอ้อแอ้ – อ้อแอ้ ค่อนข้างชัด เล่นเอาเสียบรรยากาศที่จะแสดงธรรม แต่อย่างไรก็ตามคุณปู่จำได้ว่า ได้บรรยายให้โบ้ และบีน้องใหม่ของเรา ขณะที่นั่งมาในรถฟังว่า

           การที่เราจะไปธุดงค์กันนี้ก็เพื่อไปปฏิบัติธรรม ถวายเป็นพุทธบูชาในวันมาฆะบูชา วันมาฆะนี้มีความสำคัญอย่างไร  บีรู้ไหม? วันนี้เป็นวันแห่งความรักเทียบได้กับวันวาเลนไทน์  แต่ความรักนี้ไม่ใช่ปนไปด้วยความใคร่ เป็นความรักที่มีเมตตา อยากให้คนอื่นได้ดี  มีกรุณาอยากให้เขาพ้นทุกข์ คราวนี้มาถึงเรื่อง ทุกข์  ทุกข์คืออะไร? จะยังไม่เฉลย แต่จะยกตัวอย่างเรื่องหนึ่งให้ฟัง โบ้อาจจะเคยได้ยินชื่ออาจารย์ อำไพ สุจริตกุล เป็นอาจารย์สอนอยู่ที่คณะคุรุศาสตร์, จุฬา และสอนธรรมะ อยู่ที่ยุวพุทธิกะสมาคมแห่งประเทศไทย ในแนวของคุณแม่สิริ กรินชัย มีลูกชายชื่ออาจารย์ฉัตรชัย เป็นกรรมการของยุวพุทธิกะสมาคมด้วย วันหนึ่งมีลูกศิษย์ของอาจารย์ฉัตรชัย โทร.มาปรึกษาอาจารย์ว่า หนูทุกข์เหลือเกิน ทะเลาะกับคุณแม่ จะทำอย่างไรดี อาจารย์เลยนัดให้ไปพบที่สยามพารากอน แล้วพากันไปนั่งที่ลานน้ำพุ อาจารย์บอกกับลูกศิษย์ว่า หนูลองมองไปที่น้ำพุเฉยๆซิ โดยไม่คิดอะไรเลย พอนั่งไปซักครู่ ลูกศิษย์บอกกับอาจารย์ว่า อาจารย์คะ หนูเห็นความทุกข์มันหายไปแล้วค่ะ ฉะนั้น พอสรุปได้หรือยังว่า ทุกข์เกิดขึ้นเพราะอะไร? เกิดขึ้นได้อย่างไร? ทุกข์เกิดขึ้นเพราะเราไปคาดหวังว่า แม่จะต้องกระทำกับเราอย่างโน้นอย่างนี้, หรือคาดหวังว่า แม่จะทำตามความเห็นของเรา พอแม่ไม่ทำตามก็ผิดหวัง พอผิดหวังแล้วก็โกรธ พอโกรธแล้วก็เป็นทุกข์ เช่นเดียวกับความโลภ อย่างเช่นบีอยากได้กระเป๋าใบหนึ่ง ไม่ต้องถึงขนาดกุชชี่หรือพราดา เอาแค่ขนาดชาแนลก็พอ ถ้าได้มาก็จะพอใจ พอพอใจก็จะเป็นสุขใช่ไหม แต่ถ้าเงินไม่พอซื้อ ความอยากก็ยังมีอยู่ไหม?  ถ้ามันยังอยากอยู่ก็จะมีสภาวธรรมอันหนึ่งเกิดขึ้นที่ใจ มีลักษณะยึกๆ !! ดังนั้นจะเห็นว่าถ้าอยากแล้วสมอยากก็จะเป็นสุข ถ้าอยากแล้วไม่สมอยากก็เป็นทุกข์ ฉะนั้นพอสรุปได้แล้วว่า ถ้าคาดหวังอะไรแล้ว ไม่เป็นไปตามคาดหวังก็เป็นทุกข์ สมมติอีกอย่างก็ได้ ถ้ามีใครมาว่าบีกับโบ้ ว่าเห็นแก่ตัว เอาตัวรอดคนเดียว จะรู้สึกโกรธไหม? ก็คงจะโกรธ! ตรงข้ามถ้าคนนั้นแทนที่จะว่าบีกับโบ้ กลับมาว่าคุณปู่แทน,โบ้จะโกรธไหม?  คงไม่โกรธ. เพราะไม่ใช่ “เรา” ที่เราโกรธเพราะไปยึดความเป็น เรา และของเรา ฉะนั้นเวลามีความโกรธ หรือความโลภเกิดขึ้นมันจะทำให้เราเป็นทุกข์ พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า ทุกข์ให้รู้ ไม่ใช่ให้หนี แต่คนส่วนใหญ่จะหนี ไปกินเหล้า, ไปดูหนัง, ไปฟังเพลง, ไปหายาเสพติด คือวิ่งไปหาความสุข เพื่อหนีทุกข์ ถามว่าหนีพ้นไหม? ขนาดนั่งเฉยๆมันยังทุกข์เลย เพราะมันเมื่อย  เราก็ต้องขยับตัวเพื่อแก้ทุกข์ . ทุกข์ คืออะไร เราพอจะรู้จักแล้ว คราวนี้มันเกิดที่ไหนได้บ้าง ก็เกิดที่กาย กับ ใจ ของเรานั่นเอง ถ้าทุกข์กาย ก็แก้ไข เช่น ปวดหัว ตัวร้อน ก็ไปกินยา ถ้าทุกข์ใจ ก็ไปดูสภาวธรรมที่เกิดขึ้น เช่นเวลามีคนขับรถปาดหน้า เราโกรธ แทนที่จะส่งใจไปที่รถคันที่มาปาดหน้า เราก็มาดูอาการใหลๆของใจที่กำลังโกรธ ใหม่ๆสติยังไม่แข็งแรง อาจจะใช้เหตุผลช่วยเช่น แม่ยายเขากำลังจะตายคงต้องรีบไป, หรือ เมียเขาจะคลอดต้องเร็วหน่อย, แต่ถ้าสติเราแข็งแรงแล้ว แค่ขัดใจเล็กๆพอรู้ทันมันก็ดับแล้ว. ความโลภก็เช่นกัน . แต่ความหลงนี่ยากหน่อย เช่นหลงไปทางตา หลงไปทางหู เกิดจากเหตุ – ปัจจัยที่มากระทบ พอหมดเหตุ – ปัจจัยมันก็หยุดไปเอง แต่หลงคิดนี่บางทีหลงทั้งวันยังไม่รู้ตัวเลย !!

           ในการปฏิบัติธรรม โดยการเดินธุดงค์กับอาจารย์กะลา จุดประสงค์ก็คล้ายๆที่อาจารย์ฉัตรชัย พาลูกศิษย์ไปนั่งดูน้ำพุที่สยามพารากอน แต่แทนที่จะเข้าเมือง ก็เข้าป่าแทน โดยมีเป้าหมายเดียวกันก็คือ ความพ้นทุกข์ ไม่ใช่เพื่อได้อภิญญาแสดงฤทธิ์เดชได้ ธรรมะของอาจารย์ เป็นธรรมะที่ไร้รูปแบบ เพียงแต่ให้มีจิตตื่นรู้ในธรรมชาติรอบกาย ไม่ in – อม – จม – ลอย ไปกับความคิด ความสุข – ทุกข์ ที่เข้ามากระทบ เพราะทุกอย่างมันเป็น ตถาตา คือมันเป็นเช่นนั้นเอง! มันเกิดแล้วมันก็ดับ มีหายใจออก แล้วก็ต้องมีหายใจเข้า เพราะไม่หายใจเข้าก็ตาย ! ความตายนี่เป็นทุกข์ไหม? ทุกข์ ! เพราะเราไม่รู้ว่าตายแล้วไปไหน เราก็เลยไม่อยากตาย แม้จะแก่แล้วอย่างคุณปู่ และความแก่ก็เป็นทุกข์ เพราะจะลุกจะนั่งลำบากหมด

           ธรรมะของอาจารย์กะลาเป็นธรรมะที่เข้ากับธรรมชาติ อาจารย์มักจะยกตัวอย่างว่า เมฆหมอกทั้งหลายที่กระจายอยู่บนฟ้า ก็เปรียบเสมือนกิเลสที่จรมา ถ้าเราไม่เข้าไปก้าวก่าย, แทรกแซง, หรือจัดแจง เดี๋ยวมันก็ผ่านไป เหมือนกับธรรมชาติของใจ, กิเลส คือความโกรธ ความโลภ ความหลงมันก็เป็นแค่อาการของใจเท่านั้น ไม่ต้องไปขับไล่ ไปขัดถู เพียงแต่ตามดู, ตามรู้, เดี๋ยวใจมันก็สดใสเหมือนกับเมฆที่ลอยผ่านไปเป็นธรรมชาติอันเดียวกัน เพราะฉะนั้น ถ้าเราเข้าใจอาการของใจแล้ว จะเห็นว่า ทุกข์นั้นมี แต่ไม่มีผู้เป็นทุกข์ !!

           คืนนั้นเราคุยกันประมาณถึง 4 ทุ่ม ก็แยกย้ายกันไปนอน เต็นท์ใคร เต็นท์มัน

           เช้าตื่นมาตี 4 ด้วยความหนาวเหน็บเข้าไปที่ขั้วหัวใจ, เราช่วยกันหุงข้าว, ต้มไข่, เผามันฝรั่ง, ผัดผัก, แล้วก็แบ่งกันทาน รวมไปถึงให้คนรถด้วย, ส่วนอาจารย์กะลาก็ยุ่งกับการติดต่อกับเจ้าหน้าที่วนอุทยานเพื่อหาสถานที่ที่จะพาเราไปธุดงค์กันในวันนี้

           พอเราทานข้าวเสร็จอาจารย์ก็ต้อนพวกเราขึ้นรถ ให้เอาแต่ไข่ต้ม, ผลไม้และมันเผาไปเป็นอาหารกลางวัน เพราะจะได้ไม่ยุ่งยาก ประกอบกับคราวนี้เราไม่ได้เอาข้าวเหนียวมานึ่ง เลยไม่มีข้าวเหนียวไว้กินกันตอนกลางวัน เราพกน้ำดื่มติดตัวไปคนละ 1 ขวด คิดว่าพอดื่มกันในวันนี้ เพราะอากาศหนาวคงไม่หิวน้ำกันเท่าไหร่

           เราออกรถวิ่งไปทางบ้านขุนวาง ระยะทางราวๆ 16 กม. ที่นั่นเป็นที่ตั้งของโครงการหลวง และได้พัฒนาไปเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีรีสอร์ท มีบ้านพัก มีที่กางเต็นท์ มีห้องอาหารอย่างดี มีคนมาพักที่นี่กันมากพอสมควร เราขับรถเลยไปที่หมู่บ้านปะปากะยอ ซึ่งอยู่ที่เชิงเขา ผาแง่มใหญ่ อาจารย์นัดกับลุงปะปากะยอที่มาทำความรู้จักไว้ก่อนที่พวกเราจะมา แต่ปรากฏว่า ลุงขึ้นเขาไปกับนักท่องเที่ยวตั้งแต่คืนก่อน เราเลยต้องหาคนนำทางคนใหม่ ชื่อ รวย เป็นเด็กหนุ่มอายุราวๆ 35 ปี มีครอบครัวอยู่ที่นี่ ปลูกผักขายและเลี้ยงหมูเป็นอาชีพ รวยพาเราไต่เขา ขึ้นไปตามทางรถพอดีสวนกับลุงปะปากะยอพานักท่องเที่ยวสวนลงมา แสดงว่าเดี๋ยวนี้คนชอบลุยป่าเหมือนเรามากขึ้น เสร็จแล้ว รวยก็พาวกลงไปที่ไร่กะหล่ำของชาวเขา ลัดเลาะไปตามสวนกล้วย ปรากฏว่าพวกเราหายไป 3 คน นึกว่าจะได้เรื่องมาเขียนในหัวข้อ ธุดงค์แล้วหลงป่าภาค 2 เสียอีก เราค่อยๆไต่ไปตามเนินเขาที่มีลำธารน้ำไหลอยู่ข้างๆ ได้ยินเสียงน้ำไหลดังซ่าๆ แสดงว่าที่นี่เป็นแหล่งต้นน้ำของบ้านขุนวางแน่ๆ เราค่อยๆไต่เขาขึ้นไปเลื่อยๆ สองข้างของป่าต้นน้ำเต็มไปด้วยไม้น้อยใหญ่ บางต้น 4 – 5 คนโอบเลย เพราะเช่นนี้จึงทำให้มีใบไม่หล่นเกลื่อนบนทางเดิน ทับถมกันอยู่หนาเป็นคืบ เวลาก้าวเดินมันจะลื่นถอยหลังลงมา มีโอกาสตีลังกาหงายหลังลงข้างทางได้ง่ายๆ บางแห่งไม่มีใบไม้ ก็เป็นดินร่วนซุย เป็นผง เดินผ่านไปฝุ่นก็จะฟุ้งขึ้นมา ทำให้หายใจไม่ออก ต้องเดินทอดระยะให้ห่างๆกัน บางตอนนอกจากจะเป็นดินทรายแล้ว แถมยังหักศอกอีกทำให้เดินยากไปอีกเป็น 2 – 3 เท่า เวลาไต่ขึ้นไป, ไม่มีที่ยึดที่จับ, ต้องคลานสี่เท้าเลย แต่เด็กๆชาวบ้านที่ตามมาข้างหลังเรา มันวิ่งขึ้นไปตัวปลิวเลย แถมไม่ใส่รองเท้าด้วย, อย่างเก่งก็เป็นรองเท้าแตะคีบๆเท่านั้น มีทั้งผู้หญิง ผู้ชาย แต่ผู้หญิงทาแป้งกระแจะจันท์ไว้ที่แก้มอย่างกับเด็กพม่า แถมเวลาพูดไทยเสียงก็แปร่งๆ คล้ายชาวพม่าเลย แล้วไม่ใช่มากันกลุ่มเดียว มากันหลายกลุ่ม อายุราว 14 – 15 เท่านั้น แสดงว่าผาแง่มใหญ่นี้เป็นที่ท่องเที่ยวของทั้งนักท่องเที่ยวชาวกรุงและชาวบ้านแถบนั้น เพราะถามดูปรากฏว่าไม่ใช่ชาวปะปากะยอที่หมู่บ้านเชิงเขา แต่อยู่ห่างไปอีกหมู่บ้านแถวอำเภอแม่วาง พอดีโรงเรียนหยุดเทอมก็เลยมาเที่ยวกันที่นี่ 

           เราปีนมาถึงเชิงผาที่แหงนคอตั้งบ่า คุณไพโรจน์ ปรารภว่าจะปืนขึ้นไปได้ยังไง ชันออกอย่างนั้น แต่คุณรวยผู้นำทางชาวปะปากะยอพาเราเดินเรียบผาไปอีกด้าน,  บนหน้าผาแถบยอดเขานี้มีนกเยอะมาก มองเห็นบินกันให้ว่อน ส่งเสียงเจี๊ยวจ๊าว ดังไปทั่ว เราค่อยๆไต่เลียบริมผาไปเรื่อยๆจนถึงจุด จุดหนึ่งมีทางลาดปีนขึ้นไปบนสันเขาได้ เราขึ้นมาแล้วยังต้องเดินไปอีกเพื่อไปยังที่ราบบนเนินเขา พี่เล็กกับเหมียวรวมทั้งคุณปู่มีอาการง่วงงุนงง จะหลับกลางอากาศให้ได้ เหมียวบอกว่าขอนอนบนทางเดินตรงนี้ได้ไหม แต่คุณรวยบอกว่าอีกนิดเดียวก็ถึงที่พักแล้ว  เราเลยแข็งใจเดินขึ้นไป พอถึงที่ราบ เราก็นอนแผ่กันเลย ตอนนี้เราถึงบางอ้อแล้วว่า โรค AMS ที่พวกไป TREKKING หรือพวกที่ไปเดินเขา ที่เทือกเขาหิมาลัยที่เนปาล มักจะเป็นกัน เป็นอย่างไร เพราะแม้แต่ลูกหาบที่นั่นที่ปีนเขาเป็นประจำก็เป็น; โรค AMS, อาการของมันคือ จะหมดสติไปเฉยๆโดยไม่มีสัญญาณบอกล่วงหน้ามาก่อน ถึงแม้จะเป็นผู้มีร่างกายแข็งแรงก็ตาม ทั้งนี้ขึ้นกับความสูงของภูเขา บางคนเขาสูงแค่ 3,000 เมตร ก็มีอาการแล้ว บางคน 5,000 เมตรถึงจะเป็น โรคนี้เขาเรียกโรคแพ้ความสูงหรือ Altitude Mountain Sickness (AMS)

           คุณปู่เลยรู้ว่าเมื่อวานที่ปีนเขาที่กิ่วแม่ปานแล้วเวียนหัวก็คงเป็นเพราะ AMS แต่โรคนี้ไม่มียาป้องกัน หรือยารักษา เพียงพาลงจากที่สูงก็หาย แต่บางทีเขาก็ให้กินกระเทียมเข้าไปก็ช่วยได้บ้าง กินน้ำเยอะๆทำร่างกายให้อบอุ่น ดังนั้นพวกที่จะไปปีนเขาหิมาลัยกับอาจารย์กะลาเดือนเมษานี้ อย่าลืมพกกระเทียมไปด้วย แล้วพกออกซิเจนกระป๋องไปอีกสัก 5 – 6 กระป๋อง ถ้าอย่างไรก็ขอเอาใจช่วยให้ประสบความสำเร็จในการเดินทาง TRIP นี้

           พวกเราสี่คนมี คุณเล็ก, เหมียว, บลู, และคุณปู่นอนรอ อาจารย์กะลากับพรรคพวกที่เหลือที่ปีนขึ้นไปบนยอดเขาที่สูงโดดเด่น สูงขึ้นไปอีก 400 เมตร บนนั้นเต็มไปด้วยต้นกุหลาบพันปี ทั้งสีแดง สีขาว เต็มไปทั้งยอดภู ดอกมันกินได้ เลยเด็ดมาชิมกันเป็นการใหญ่ จนเย็นถึงได้ลงมา พวกเด็กๆชาวบ้านลงไปก่อนเรานานแล้ว คุณปู่รู้สึกเป็นห่วงว่า ลงไปคงมืดแน่ๆ อาจารย์ให้คุณปู่เลือกเอา ว่าจะลงทางเก่าหรือทางใหม่ คุณปู่ดูแล้วทางเก่าโหดมากๆ ไม่แพ้ทางขึ้นภูหลวงเลย แต่ดีกว่าที่ไม่มีหินให้เตะจนเท้าช้ำ แต่มีฝุ่นมากทำให้ลื่น แถมหักโค้งไปโค้งมาอีก, ลงไม่ดีมีหวังตกเขาตาย เลยเสี่ยงเอาทางใหม่อาจจะดีกว่า แต่พอลงมาแม้จะเป็นทางหญ้า โล่งไม่มีต้นไม้บัง แต่ก็ไม่มีต้นไม้ให้เกาะ แถมชันร่วมๆ 90° ฝุ่น,ใบไม้, เต็มไปหมด ต้องใช้เชือกผู้กับต้นไม้แล้วเกาะเชือกโรยตัวลงมา กว่าจะถึงพื้นล่างก็ค่ำพอดี แต่โชคดีที่เป็นวันพระจันทร์เต็มดวงเลยส่องแสงให้ความสว่างแทนพระอาทิตย์ เราเดินผ่านไร่ข้าวโพด ไร่กะหล่ำของชาวเขา ออกมาที่ถนนสำหรับรถวิ่งขึ้นมาขนพืชผักของชาวไร่ ผ่านเนอสเซอรี่ปลูกต้นเบญจมาศของโครงการหลวง ที่ชาวไร่ทำเป็นกระโจมสีขาว เปิดไฟฟ้าส่องแสงสว่างจ้า เพื่อให้ต้นเบญจมาศสังเคราะห์แสง ต้นจะได้โต มิฉะนั้นต้นจะแคระแกรนไม่ให้ดอก หรือ ดอกเล็กมากเสียราคา ขนาดปลูกได้ดอกใหญ่ๆ ยังขายได้ดอกละ 2 – 4 บาทเท่านั้น แต่มาขายที่กรุงเทพดอกละ 10 – 20 บาท น่าสงสารชาวเขา ไหนจะค่าปุ๋ย, ค่ายาฆ่าแมลง, ค่าไฟฟ้า ไม่น่าคุ้มทุนเลย แต่อย่างไรก็ตามชาวไร่ที่นี่ก็ปลูกกันเต็มหุบเขา ตลอดสองข้างทางที่เราวิ่งรถจากโครงการหลวงผาแง่มใหญ่กลับมาที่แค้มป์สน สว่างไสวเต็มไปด้วยเนอสเซอรี่ที่ปลูกต้นเบญจมาศ อย่างกับเมืองสวรรค์ แถมอากาศหนาวด้วยทำให้รู้สึกเหมือนอยู่เมืองนอกเลย

           ตอนที่เดินลงเขามาจากผาแง่มใหญ่ รวยถามคุณปู่ว่ากรุงเทพมีป่าไม้เยอะไหม? เราเลยถามกลับไปว่า เคยไปเชียงใหม่ไหม? รวยบอกว่าไม่เคย เคยไปอย่างมากก็แค่จอมทองเท่านั้นเอง คุณไพโรจน์เลยบอกว่า มีแต่ป่าคอนกรีต รวยทำท่างงๆ แต่เราก็ไม่ได้อธิบายอะไรเพิ่มเติม เพราะเห็นว่าเขายังบริสุทธิ์อยู่ เราไม่อยากเอาอะไรเลวๆใส่สมองเขาให้เสียคน. รวยชวนเรามาทำไร่ ปลูกบ้านอยู่กับเขาที่นี่เขาจะหาที่ให้ และจะขออนุญาตโครงการหลวงให้ นับว่ามีน้ำใจงามมาก เราขอบคุณ แล้วบอกว่าขอไปคิดดูก่อน พอดีเราลงมาถึงหมู่บ้านปะปากะยอ 7 หลัง ก็ได้ข่าวว่าแม่เฒ่า หรือ อุ๋ย (คำ) คือคนแก่เสียชีวิตลงแล้ว ด้วยโรคชรา ตอนที่เราได้ยินเสียงปืน ขณะที่อยู่บนยอดเขา เราเลยรวบรวมเงินช่วยเหลืองานศพไป 2,000 กว่าบาท แล้วเราล่ำลารวยพร้อมกับให้ค่านำทางไป 500 บาท คุณปู่ให้ไปอีก 500 บาทรวมเป็น 1,000 บาทคงสบายไปหลายเดือน เพราะอยู่ที่นี่ไม่อดตาย ถึงมีกินก็จริงแต่ไม่มีเงินใช้เพราะเงินหายากมาก

           เราเดินออกมาจากหมู่บ้าน พอดีรถตู้ของเราก็วิ่งเข้ารับ พวกเราขึ้นรถวิ่งกลับมาที่แค้มป์สนที่พักของเรา. พอลงจากรถโดนลมหนาวพัดมาปะทะ รู้สึกหนาวยะเยือก แถมยังปวดหัวจากโรค AMS ไม่หาย หิวก็หิว เลยขอมุดเข้าเต็นท์นอนดีกว่า เผื่อจะหายไปสักอย่างหนึ่งใน 3 อย่างที่เราเป็นอยู่ก็ได้ ขณะที่นอนได้ยินเสียงอาจารย์กะลาแว่วๆว่า การเดินเขาครั้งนี้ เพื่อฝึกความอดทนต่อสู้กับความเหนื่อย, ความหิว, ความกลัว, จะให้รู้จักทำตัวให้กลมกลืนกับธรรมชาติ สามารถรับธรรมขาติเข้ามาอยู่ในอ้อมกอดของเราได้ ต้องเรียนรู้วิธีอยู่ในป่าให้ได้เหมือนกับการเรียนรู้ การใช้ชีวิตในกรุง และต้องรู้ว่าทุกย่างก้าวเสี่ยงกับความตาย ฉะนั้นต้องเรียนรู้การตายให้เป็น, แล้วก็จะใช้ชีวิตเป็น, หลายครั้งและหลายคน หลงลืมไปว่าต้องตายเข้าวันหนึ่งและตายได้ง่ายๆเอง ความสุข – ความทุกข์ เป็นของชั่วคราว ถ้าเรามองดูโดยไม่ก้าวก่าย, แทรกแซง, สุข ทุกข์ก็ทำอะไรเราไม่ได้

           คืนนั้นหลับๆตื่นๆด้วยความหิวผสมกับความหนาว เลยตื่นเช้ามาตอนตี 2 อาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าสบายตัว แล้วมาเดินจงกรมท่ามกลางความหนาวเหน็บอย่าบอกใคร เดินได้สักครู่ทนไม่ไหวต้องกลับเข้าไปนั่งภาวนาในเต็นท์, ตี 5 เราตื่นกันหมดทุกคน แล้วช่วย กันเก็บเต็นท์ด้วยความชำนาญเพราะวันนี้เราจะย้ายที่กางเต็นท์ใหม่ อาจจะลงไปที่ กม.10 แทนก็ได้ ?

           เราชงอะไรดื่มกันเล็กๆน้อยๆพร้อมกับทานขนมปังทาแยม ไข่ต้มของเมื่อวาน กับผลไม้ เป็นอาหารเช้า เพราะอาจารย์ไม่อยากให้เสียเวลาทำอาหารกัน เราทานอาหารเช้าเสร็จ ก็ออกเดินทางลงเขา, พอรถวิ่งมาถึง กม.20 อาจารย์ให้จอดรถ พาพวกเราลงจากรถแล้วชะแว๊บเข้าป่าข้างทางเราเดินตามไปติดๆ   ปรากฏว่าเข้าไปในไร่กะหล่ำของชาวบ้านและมีเนอสเซอรี่ ปลูกดอกเบญจมาศด้วย เราเดินออกจากไร่มาหน่อยก็ถึงลำธารน้ำสายใหญ่ไหลเชี่ยวทีเดียว เราเดินเลียบลำธารมานิดเดียว ลำธารก็เปลี่ยนร่างกลายมาเป็นน้ำตกเสียเฉยๆยังงั้นเอง เรานั่งเปิดรับจักระ, รับพลังจากน้ำตกเข้ามาไว้ในตัวเพื่อเพิ่มพละกำลัง ไม่รู้จะได้ผลหรือเปล่า แล้วเราเดินข้ามลำธารไปฝั่งตรงข้าม เดินตามแนวธารน้ำไปอีก 200 เมตร ก็มาถึงน้ำตกที่สูงใหญ่กว่า มีชื่อว่า น้ำตกผาดอกเสี้ยว เพราะเป็นน้ำตกมาจากผาที่มีดอกเสี้ยวบานอยู่ เรานั่งพักและทานผลไม้เป็นอาหารกลางวัน กับขนมปังที่ติดตัวมาคนละนิด คนละหน่อย คุณไพโรจน์ ลงอาบน้ำจนชุ่มฉ่ำ, โบ้ถกขากางเกงลงไปลุย, ทุกคนเอาเท้าแช่น้ำ ปรากฏว่าน้ำเย็นเฉียบ ไม่ใช่เย็นฉ่ำนะ!

           เรานั่งกันจนเที่ยงก็ลุกขึ้นเดินต่อเลียบไปตามลำธาร ตรงทางเดินด้านหนึ่งเป็นลำธาร อีกด้านก็มีท่อส่งน้ำและรางลำเรียงน้ำเลียบไปตามถนน เราก็เดินไปสงสัยไปว่าใครมาทำไว้? แล้วจะส่งน้ำไปที่ไหน? ไม่ช้าเราก็ถึงบางอ้อ! เพราะมาเจอนาขั้นบันใด กว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา มีแปลงผักใกล้ๆลำรางน้ำที่ต่อท่อลงไปรดผักและต้นไม้เหล่านั้น พอดีเรามา เขาเกี่ยวข้าวหมดแล้วเหลือแต่ซังข้าว หน้านาคงเขียวชอุ่ม เราเดินไปตามทางเดิน รางส่งน้ำก็ส่งน้ำไหลสูงบ้างต่ำบ้าง คู่ขนานกันไปตามความสูงต่ำของเนินเขา จนเราเดินมาถึงหมู่บ้านแม่กลางหลวง ที่นี่มีศาลาประชาคม หรือศาลาอเนกประสงค์ ให้ผู้คนมาพบปะสนทนากัน และไว้ต้อนรับอาคันตุกะแปลกหน้าที่แวะมาเยี่ยมเยียน, ที่นี่มีกาแฟสดที่ปลูกเอง, ไว้เลี้ยงฟรี! มี Mini Mart ไว้ขายเครื่องดื่มและขนม มีกาแฟสดบดแล้วขาย พวกเราอุดหนุนกันคนละถุง, 2 ถุง, ถุงละ 100 เดียวเท่านั้น เหมียวบอกว่าจะเอาไปฝากเจ้านาย จะได้อนุญาตให้ลามาธุดงค์ได้อีก ที่นี่มีกล่องรับบริจาคเพื่อเป็นทุนการศึกษาของเด็ก ทำด้วยกระบอกไม้ไผ่สูงใหญ่น่าเลื่อมใส เราบริจาคกันคนละ 100 บ้าง 200 บ้างเพื่อสงเคราะห์เด็กชาวเขาเหล่านั้นที่นี่มีห้องน้ำสาธารณะ,    มีโบสถ์หลังเล็กๆ แสดงว่าคริสต์ศาสนาเผยแพร่มาถึงที่นี่ด้วย

           เรานั่งพักจนหายเหนื่อยกันดีแล้ว อาจารย์กะลาก็พาเดินลงเนิน ผ่านตลาดแม่กลางหลวง, ผ่านโรงเรียนของเด็กชาวเขา, ผ่านเกสต์เฮาส์ และที่ตั้งเต็นท์ของหมู่บ้าน เราเดินเลยมาที่โครงการหลวงของแม่กลางหลวง ซึ่งตั้งอยู่ในหุบเขานี้ ที่นี่มีบู๊ทขายสตอร์เบอรี่ ขายมาม่า อาหารสดและอาหารแห้งฯลฯ เราซื้อติดไปเพื่อไปปรุงอาหารกันเย็นนี้ โดยไม่คิดว่ามันสำคัญมากๆ เราขึ้นรถพร้อมกันแล้วก็ออกมาจากโครงการหลวงตรง

           กม.17 เรานึกว่าจะเลี้ยวขวาไปที่ กม.10 เพื่อพาบลูไปส่งที่สนามบิน เชียงใหม่ จะได้กลับไปทำงานที่กรุงเทพในวันพรุ่งนี้ แต่รถกลับพาเราย้อนกลับมาที่ กม.20 และรับชาลี? แล้ววิ่งผ่านแค้มป์สน กม.28 จนถึงทางแยกที่จะไปแม่แจ่ม. เราลงรถกันที่นี่ อาจารย์บอกให้เอาเฉพาะถุงนอนติดตัวไป กับอาหารแห้งกับของชงๆนิดหน่อย แล้วเราก็แบกสัมภาระเดินตามชาลีไปต้อยๆโดยมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่ดอยหัวเสือ ซึ่งเป็นแผนปัจจุบันทันด่วนของอาจารย์ แล้วปล่อยให้รถตู้ทั้ง 2 คันไปเติมน้ำมันที่จอมทอง และส่งบลูที่สนามบินเชียงใหม่

           เราค่อยๆไต่เนินที่ลาดชันมากๆแถมยาวเป็นพิเศษขึ้นไป, สองข้างทางบนคาคบไม้ มีกล้วยไม้ขึ้นอยู่หนาตา มีกุหลาบพันปีเป็นกาฝากขึ้นกับต้นรังใหญ่ ออกดอกชูช่อไสว, บนพื้นดินมีลูกก่อหล่นเต็มไปหมดแสดงว่าป่าที่นี่มีทั้งป่าเต็งรัง, ป่ากอ, ป่าสน, สลับกับป่าดิบ และป่าผลัดใบ ยิ่งเดินยิ่งชันมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่โหดเหมือนเมื่อวาน เราเดินมาจนถึงเชิงดอยหัวเสือ คราวนี้ต้องค่อยๆไต่เรียบริมเขาขึ้นไป ข้างหนึ่งเป็นเนินหญ้าอีกด้านเป็นทางชันดิ่งไปเชิงเขาต้องค่อยๆไต่อย่างมีสมาธิเพราะพลาดก็กลิ้งลงเขา, ทางไม่ลำบากไม่ชันมากนัก แต่ยาวไกลเหลือเกิน กว่าจะค่อยๆกระดืบๆขึ้นมาบนหลังเขาได้เล่นเอาใจหายใจคว่ำไปหลายยก พอขึ้นมาได้ก็หมดแรงพอดี ทรุดนั่งไม่ขยับอีกเลย แต่หนุ่มๆสาวๆยังมีแรงดี ถลาไปถ่ายรูปด้านโน้นที ด้านนี้ที ซึ่งพระอาทิตย์กำลังจะตกดิน สวยมากทีเดียว เรานั่งชมวิวทิวเขาที่เรียงรายล้อมรอบยอดดอยหัวเสือเหมือนกับทะเลภูเขาเลย จนอาทิตย์ลับขอบฟ้า จึงมาก่อไฟต้มน้ำ ต้มมาม่าที่ซื้อมาจากที่โครงการแม่กลางหลวง แล้วใส่กะหล่ำปลีที่เหลือมาจากวันก่อนลงไปด้วย อร่อยอย่าบอกใครเลย ชาลีมีฝีมือในการต้มมาม่าเก่งกว่าสาวๆหลายเท่า พูดอย่างนี้วันหลังปุ่นคงไม่ทำให้กินอีกแน่ๆ
           คืนนี้เป็นคืนมาฆะบูชาอาจารย์กะลานำปฏิบัติเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา โดยยืนแล้วชูแขนขึ้น มองไปที่ยอดดอยหัวเสือท่ามกลางแสงจันทร์สลัวๆเพราะมีเมฆมาบังทำให้เห็นยอดไม้ ทมึนๆ ได้ยินเสียงหรีดหริ่งเรไร กรีดร้องเสียงก้องป่า อาจารย์บอกให้ทำตัวเหมือนกบฟังจิ้งหรีด, จั๊กจั่นส่งเสียงร้องก้องหู ให้ดูทิวไม้รอบๆตัวโดยไม่หลับตา วางใจให้เป็นกลาง ไม่ in – อม – จม – ลอย ไปกับสิ่งแวดล้อม สัมผัสรับทราบความหนาวของอากาศและลมที่โชยมา มีจิตตื่นรู้ มีตบะสู้กับลมหนาว โดยไม่เป็นทุกข์ อาจารย์บอกว่า ความพอใจ – ความไม่พอใจล้วนเป็นปรากฏการของจิต เราต้องสามารถอยู่ในสภาพหรือเหตุการณ์ใดๆก็ได้ โดยไม่ละเมอ เพ้อเจ้อ ตีโพย ตีพาย ให้เห็นเป็นธรรมดา ในทุกๆสิ่งทุกๆอย่าง ที่เกิดขึ้นมา

           ชาลียีนฟังอย่างสนใจ บอกว่าชอบมากับอาจารย์กะลา เพราะมีธรรมะแสดงให้เป็นประจำ ไม่ชอบมากับพวกกินเหล้าเมายาเพราะไม่สงบ บางทีก็มากับนักท่องเที่ยวฝรั่ง ถึงแม้แต่ต่างเชื้อชาติศาสนาชาลีก็ไม่รังเกียจ แม้แต่พวกเราชาวพุทธ ชาลีบอกว่าขอให้เป็นคนดีก็พอ สำหรับตัวชาลีเองเป็นคริสต์, ชาลีเล่าว่า เขาเป็นกรรมการของหมู่บ้านแม่กลางหลวง อยากได้ทุนการศึกษาให้กับเด็กๆ รวมถึงเสื้อผ้า, สมุด, ปากกา, ดินสอ, จิ๋วเลยบอกว่าจะรวบรวมส่งไปให้

           เราปฏิบัติธรรมกันร่วมๆชั่วโมง แล้วแยกย้ายกันไปภาวนา คุณปู่ไปอยู่ในกลดที่อาจารย์กะลากางไว้ให้ กุ้งอยู่ในเต็นท์นั่งทรงสูง นอกนั้นก็นอนกันกลางแจ้ง, กลางดิน, กลางทราย, ห่มลม, ห่มฟ้า, ห่มดาว, อากาศหนาวเหน็บเข้าถึงใจ บางคนก็หลับไปเพราะความง่วง เราหลับๆตื่นๆด้วยความหนาว พอตี 3 อาจารย์กะลาก็มาปลุกพวกเราไปนั่งสมาธิกันบนที่เนินเขาดอยหัวเสือ อากาศหนาวพัดโชยมา สะท้านไปทั้งกาย แต่ใจเราก็ไม่วิตก หนาวก็รู้ว่าหนาว ไม่ทุกข์กับมัน, กายก็ส่วนกาย ความหนาวก็ส่วนความหนาว ใจก็เป็นเพียงผู้รู้, ผู้ดู, ผู้เห็นเท่านั้น! เรานั่งกันจนตี 5 แล้วก็ออกเดินจงกรมกันบนยอดเขานั้น ตั้งใจว่าจะอยู่ดูพระอาทิตย์ขึ้น แต่ฟ้าก็ไม่เปิด พอ 6 โมงเช้า เราติดไฟต้มน้ำชงกาแฟ ทานกับขนมปังกรอบเป็นอาหารเช้า แล้วเราก็เก็บสัมภาระ ให้ชาลีช่วยแบกกลดของอาจารย์ และถุงนอนของพวกเรา แล้วก็ทยอยเดินลงจากยอดเขาดอยหัวเสือ

           ขาลงมันหวาดเสียวกว่าตอนขาขึ้น เพราะเดินเลาะข้างเขาลงมาด้านหนึ่งก็เนินเขา อีกด้านก็หุบเหว ถ้าพลาดก็กลิ้งหล่นลงหน้าผาไปเลย ทางเดินไม่ลำบากแต่ไม่ชอบตรงมันยาว เทียบกับลงจากภูหลวงแล้วยาวกว่าหลายเท่า ต้องยั้งตัวเกร็งกาย เกร็งใจ แขม่วท้องช่วย กลัวหายใจแรงแล้วอาจจะสะดุดเท้าตัวเองหน้าคะมำลงมาได้ พอลงมาถึงเชิงเขา เรานึกว่าจะกลับทางเดิมโดยให้รถมารับจุดที่มาส่งเรา กลับไม่ใช่ เราเลี้ยวขวาเข้าข้างทาง เดินไปตามลำห้วย อ้อมเขาไปอีก 2 ลูก แต่ไม่ได้ขึ้นเนิน เลยเดินกันสบายๆ คุณเล็ก, เหมียว, คุณไพโรจน์ และคุณปู่เดินรั้งท้าย แต่เราไม่กลัวหลงแล้วเที่ยวนี้ เราอ่านเครื่องหมายบอกทางที่อาจารย์ทำไว้ให้เป็นระยะๆ เข้าใจดีเลยมั่นใจว่าไปถูกทางแน่ๆ ตามทางเดินมีลำธารตัดพาดผ่าน 2 – 3 สาย, แต่เดินอีท่าไหนไม่รู้ คุณปู่หกล้มก้นจ้ำเบ้า ดึงเอาเหมียวล้มลงมาด้วย, ทางด้านบนยอดเขาที่เดินเลียบมานี้ คงมีแอ่งน้ำหรืออ่างเก็บน้ำ เพราะมีท่อ PVC ต่อลงมาและทอดยาว ขนานไปกับทางที่เราเดิน จนมาถึงถังพักน้ำใบใหญ่มากๆ มีน้ำไหลเข้าไปตลอดเวลา และก็มีท่อ PVC เล็กๆ ต่อไปยังหมู่บ้าน เราเดินมาถึงไร่ของชาวบ้าน เห็นกำลังใช้สปริงเกอร์ ลดผักที่ปลูกไว้ โดยมีสายยางต่อมาจากท่อน้ำ PVC เลย ไม่สงสัยว่าผักของชาวเขาที่นี่จึงงาม เพราะมีน้ำท่าบริบูรณ์นั่นเอง เราเดินมาถึงบ้านของชาวปะปากะยอ, เห็นเลี้ยงหมูป่าตัวดำๆไว้หลายตัว ลูกหมูวิ่งไล่กันดูน่ารักมาก เดินไป เดินมา – มาโผล่เอาที่ศาลาอเนกประสงค์ของบ้านแม่กลางหลวง ที่เราแวะมากินกาแฟกันเมื่อวานนี้ อาจารย์มานั่งรอเรานานแล้ว เหลือคุณแจ๋วที่เท้าเจ็บตั้งแต่เมื่อวาน แล้วก็ยุ้ยนางแบบซึ่งเดินมาเป็นเพื่อน และกลุ่มของคุณปู่ที่เดินมาสุดท้าย ทุกคนทานเครื่องดื่มและขนมขบเคี้ยวรองท้องเพราะเมื่อเช้าไม่ได้ทานอะไรหนักๆมากันเลย คงหิวกันน่าดู เรามาครบแล้วก็เดินลงมาที่โครงการหลวงที่รถตู้จอดรอเราอยู่ แล้วเราก็ขึ้นรถ แล้ววิ่งรถลงมาที่ กม.17 วิ่งย้อนไปทางแค้มป์สนผ่าน กม.20 ที่เราลงเดินไปน้ำตกเมื่อวาน จนถึง กม.28 เราเข้าไปในที่ทำการโครงการหลวง ซึ่งทำเป็นสวนไม้ดอกสวนไม้ประดับสวยงามมาก มีสระน้ำ ในสระมีหงษ์ที่ธงชัย แม็คอินไตย มาบริจาคไว้คู่หนึ่งลอยคออยู่ เราเลยเข้าไปที่ร้านอาหารของโครงการแล้วสั่งอาหารอย่างดีมา มีผัดผักรวมมิตร, เห็ดหอมสดชุบแป้งทอด ปลาเทร้าทอด ต้มยำแล้วสั่งเมี่ยงปลามาให้อาจารย์ลองชิมดู ฯลฯ ล้วนของอร่อยๆทั้งนั้น เราทานไปคุยไปอย่างอ้อยอิ่ง เพราะนานๆจะได้ลิ้มรสอาหารพิเศษๆอย่างนี้เสียที ส่วนใหญ่ก็เป็นมาม่ากับขนมปังกรอบ และไข่ต้มเป็นหลัก กินกับกาแฟหรือโอวัลตินบ้าง งวดนี้เลยสั่งน้ำผลไม้มาลองชิม รสชาติไม่เลวเลย เราทานข้าวเสร็จก็วิ่งรถมาที่แค้มป์สนที่เราพักกันเมื่อคืนก่อนโน้น มาอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า สาวๆถือโอกาสสระผมจนตัวซีดด้วยความหนาว พอเรียบร้อยเราก็ล่ำลาอาจารย์กะลาและชาลี เพราะอาจารย์จอดรถไว้ที่นี่แล้วจะเลยไปส่งชาลีที่บ้านแม่กลางหลวง ถามว่าอาจารย์จะไปไหนต่อ อาจารย์บอกว่า จะเข้าไปที่ผาแง่มใหญ่ แล้วเลยเข้าไปทางอำเภอแม่วาง ไปสำรวจป่าแถวนั้น

           เราออกเดินทางจากดอยอินทนนท์ราวๆบ่าย 4 โมง วิ่งลงเขาเข้าจอมทอง ออกมาทางป่าชางเข้าลำพูนออกมาทางถนนไฮเวย์ เราแวะที่ตลาดทุ่งเกวียนก่อนถึงลำปาง ซื้อของที่ระลึก, ของฝาก, ขนมนมเนย, แล้ววิ่งผ่านลำปาง, ตาก, กำแพงเพชร, มาแวะกินข้ามต้มรอบดึกกันที่นครสวรรค์ เสร็จแล้วก็ขึ้นรถ ถือโอกาสหลับกันมาจนถึง TOT ของกุ้งตอน 2 ยามกว่าๆเท่านั้นเอง แล้วเราก็แยกย้ายกันกลับ นัดว่าคราวหน้าเจอที่ดอยช้างเผือก กาญจนบุรี

 
คุณปู่

 
                                                                               อะไรที่ไหน
 
           อันความงาม มีอยู่ตาม หมู่ซากผี
อันความดี อยู่ที่ละ สละยิ่ง
ความเป็นพระ อยู่ที่เพียร บวชเรียนจริง
นิพพานดิ่ง อยู่ที่ตาย ก่อนตาย เลย
           ปริญญา ตายก่อนตาย ใครได้รับ
เป็นอันนับ ว่าจบสิ้น การศึกษา
เป็นโลกุตตร์     หลุดพ้น เหนือโลกา
หยุดหมุนเวียน สิ้นสังสา- รวัฏฎ์วน
           ปริญญา แสนสงวน จากสวนโมกข์
คนเขาว่า เยกโยก ไม่เห็นหน
ไม่เห็นดี ที่ตรงไหน ใครสัปะดน
รับเอามา ด่าบ่น   กันทั้งเมือง
           นี่แหละหนา ปริญญา ตายก่อนตาย
คนทั้งหลาย มองดู ไม่รู้เรื่อง
เราอยากอยู่ ให้เด่นดัง มลังเมลือง
เขาเลยเคือง ว่าเราชวน ให้ด่วนตายฯ
 
บทสัมภาษณ์
- สัมภาษณ์ผู้ปฏิบัติธรรม [4 พฤศจิกายน 2556 17:56 น.]
- สัมภาษณ์นักเรียนรับทุน [4 พฤศจิกายน 2556 17:56 น.]
- ธุดงค์ภูทับเบิก2 [4 พฤศจิกายน 2556 17:56 น.]
- ธุดงค์ดอยอินทนนท์ [4 พฤศจิกายน 2556 17:56 น.]
- ธุดงค์เขาช้างเผือก [4 พฤศจิกายน 2556 17:56 น.]
- สัมภาษณ์ผู้ป่วยโรคเอดส์ [4 พฤศจิกายน 2556 17:56 น.]
- สัมภาษณ์ผู้ป่วยโรคไต [4 พฤศจิกายน 2556 17:56 น.]
ดูทั้งหมด

Copyright by thaigoodwill.org